Breaking News

ยกระดับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อพท. เร่งประกาศพื้นที่พิเศษท่องเที่ยวยั่งยืน

- จากซ้าย นอ. อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. พลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท
อพท. เร่งเครื่องก่อนประกาศ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นพื้นที่พิเศษสิ้นปีนี้ ยกทีมลงพื้นที่เปิดเวทีแจงร่างแผนการดำเนินโครงการฯ และรับฟังความเห็นจากทั้ง 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ย้ำแผนงานต้องเกิดจากการบูรณาการทุกภาคส่วน ชูวิถีและทรัพยากรที่เป็นอัตลักษณ์ พัฒนาคนและพื้นที่ สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมีพลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ว่า ถือเป็นการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ และบทบาทและภารกิจของ อพท. เพราะการจะประกาศพื้นที่พิเศษในที่ใดก็ตาม อพท. ต้องอาศัยการผนึกกำลัง และความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ
ในการประชุมเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ อพท. ได้เชิญภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เข้าร่วมรับฟังข้อมูลร่างแผนการดำเนินโครงการศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ ขอบเขตพื้นที่และขอบเขตการดำเนินการของโครงการ รวมทั้งการศึกษาทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ ร่างแนวทางการสร้างการรับรู้ของโครงการฯ ได้แก่ กิจกรรมการสร้างการรับรู้ทั้งกลุ่มใหญ่ และจัดประกอบกลุ่มย่อยในระดับอำเภอ รวมไปถึงการสื่อสารโครงการผ่าน Facebook และ Line Group เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งภายหลังการนำเสนอ อพท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมประชุม เพื่อนำมาปรับปรุง
“ในที่ประชุม ภาคีที่ร่วมรับฟังส่วนใหญ่ยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินงานและสนับสนุนข้อมูลที่มีการรวบรวมและศึกษาวิจัยไว้แล้วให้แก่ อพท. และยังเสนอให้การศึกษาควรทำให้รูปแบบบูรณาการแผนงานและโครงการต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับภาค เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่มากที่สุด”

นอกจากนั้น ยังเสนอว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อพท. จึงควรมีรูปแบบการนำเสนอและสร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงพัฒนาให้เกิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และให้มีการรวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อยกระดับอีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของภาคีที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ นับเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ซึ่ง อพท. ยินดีรับข้อเสนอไปพิจารณาดำเนินการต่อ และจะมีการสร้างการรับรู้ทั้งในการประชุมกลุ่มใหญ่ และกลุ่มย่อยทั้ง 3 จังหวัด เพื่อนำเสนอแผนการดำเนินงานและร่วมกันจัดทำแผนขับเคลื่อนดังกล่าวร่วมกันต่อไป

สำหรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีจุดเด่นที่สำคัญคือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในแถบนี้ที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมา ประกอบกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งคุณค่าทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และด้านวัฒนธรรม ซึ่ง อพท. จะนำศักยภาพเหล่านี้มาพัฒนาร้อยเรียงเป็นเส้นทางท่องเที่ยว (Routing) ที่นำเสนออัตลักษณ์ของพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ โดย อพท. จะเข้าไปหนุนเสริมการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น การพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว การสร้างคุณค่าและมูลค่าผ่านเรื่องเล่า (Story Telling) ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และสร้างการรรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อพท. ตั้งเป้าหมายว่าจะประกาศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่พิเศษได้ภายในสิ้นปี 2564
ภายหลังการประชุม พลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์ ประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยคณะ ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาศักยภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา พื้นที่เมืองเก่าสงขลา โอกาสนี้ยังได้รับฟังแนวทางการขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก ณ โรงสีแดง และเยี่ยมชมเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนของชุมชนบ้านหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร ตามเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชมที่น่าสนใจ และเยี่ยมชมป้อมเมืองโบราณหมายเลข 1 และหมายเลข 9 ที่ยังคงมีสภาพที่สวยงามเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการ อพท. ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนพร้อมให้คำแนะนำต่อผู้แทนชุมชน ถึงการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวให้พร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อพท. ได้ปฏิบัติตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่ New Normal ด้วยการจัดประชุมแบบเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเปิดให้มีการเข้าร่วมประชุมแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19



ไม่มีความคิดเห็น