10 ประเทศสมาชิกอาเซียน+1 ประเทศติมอร์ เลสเต สร้างสรรค์การแสดงร่วมสมัยเกี่ยวกับน้ำและฝนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโครงการ RAIN MOTIONS: CONNECTING (WITH) THE SKIES OF SOUTHEAST ASIA
วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 นายเขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของซีมีโอและนางสาวดารุณี ธรรมโพธิ์ดล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมด้านต่างประเทศ ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ RAIN MOTIONS: CONNECTING (WITH) THE SKIES OF SOUTHEAST ASIA ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ชั้น 1 สำหรับกิจกรรมของโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมบรรยายและสัมมนา “Rain Motions: Connecting (with) the Skies of Southeast Asia” และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น รวมถึงรับชมการแสดง ซึ่งเป็นผลผลิตจากการนำองค์ความรู้ทั้งด้านวิชาการและการแสดง จากทั้ง 11 ประเทศ มาสร้างสรรค์เป็นการแสดงร่วมทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ แก่สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงาน
โครงการ Rain Motions: Connecting (with) the Skies of Southeast Asia เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts: SEAMEO SPAFA) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน เปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักแสดงจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงอีก 1 ประเทศ คือ ประเทศติมอร์-เลสเต ได้นำเสนอแนวปฏิบัติทางประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนความเชื่อและความศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับน้ำและฝน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเน้นการนำเสนอในมุมมองใหม่ ทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และการสร้างสรรค์การแสดง ตามนโยบายของ วธ. นโยบายมุ่งขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ให้ก้าวสู่พื้นที่ทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ใช้มิติวัฒนธรรมเผยแพร่แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทยในเวทีโลก เพื่อสานสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ยกระดับความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทั้งนี้ งานดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พิธีกรรมต่าง ๆ ความเชื่อและความศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับน้ำและฝนในภูมิภาค ถือเป็นจุดกำเนิดแห่งชีวิตตามความคิดความเชื่อของชาติพันธุ์ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างโลกแห่งธรรมชาติและโลกแห่งจิตวิญญาณ ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยและความสามัคคีภายในแต่ละชุมชน ซึ่งพิธีกรรมและความเชื่อเหล่านี้บางส่วนได้รับการสืบทอดและยังคงปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน นับเป็นกลไกสำคัญต่อการสืบสานวัฒนธรรมทางความเชื่อและประวัติศาสตร์ของชุมชนรวมถึงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ในการนี้ กระทรวงวัฒนธรรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดกิจกรรมโครงการครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้และต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำและฝน ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับสากลสืบไป
ไม่มีความคิดเห็น