Breaking News

จุฬาฯ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เปิดหลักสูตรออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทยมุ่งเสริมสร้างทักษะใหม่ให้แก่บุคลากรหวังกระตุ้นอุตสาหกรรมไทยให้ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรม 4.0

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ ผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนเปิดตัวโครงการนำร่อง “Upskilling /Reskilling Industrial Workforce for Thailand 4.0: Data Science Pathway by Western Digital and CHULA MOOC Achieve” มุ่งพัฒนาและเสริมทักษะแก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่สู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม(อว.) หลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ ที่ทันสมัยมีเนื้อหากระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึง ได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมกับการฝึกปฏิบัติและการทดสอบ รวมถึงกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ เมื่อเรียนจบชุดวิชา (Pathway) ผู้เรียนที่สอบผ่านเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับใบประกาศนียบัตรจากโครงการ CHULA MOOC Achieve เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถตามลำดับผลการเรียน
ทั้งนี้ จุฬาฯ ร่วมกับ อว. บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด (BIH) จัดงานเปิดตัวโครงการนำร่อง ในวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00-15.00 น. ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการนี้เน้นพัฒนาทักษะผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Science/Data Analytics) ในหน่วยงานและองค์กรเพื่อสามารถปรับตัว และรองรับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (Disruption) ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โจทย์ของประเทศคือจะทำอย่างไรให้คนไทยมีทักษะแห่งศตวรรษใหม่ และก้าวสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่นี้ได้ และจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา(STEM)เพื่อมาใช้เป็นหัวใจในการสร้างคน
"เราจะต้องเอาสะเต็มไปฝังอยู่ในประชาชนให้ได้ ผมจึงตั้ง CAREER FOR THE FUTURE ACADEMY จะได้เห็นว่ามันไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพียวๆ แล้ว มันจะเหมือนเป็นการเอาทักษะที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ไปไว้ที่ประชาชนไป RESKILLเขา เพราะว่าจะมีคนตกงานเพราะสกิลเราเปลี่ยน" ดร.สุวิทย์ กล่าว
มร. ฟิลิป เบอร์นาร์ด รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์เปอเรชั่น กล่าวว่า “บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เราจำเป็นต้องมีศักยภาพการแข่งขันในตลาด เราไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าระบบวิเคราะห์ เทคโนโลยีคลาวด์อินเตอร์เน็ต และปริมาณข้อมูลดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งเวสเทิร์น ดิจิตอลให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้อย่างมาก และใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อทำให้โรงงานของเรามีความทันสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานสู่ยุคดิจิทัลโดยนำระบบอัตโนมัติ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้”
“วิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นวิธีคาดการณ์อนาคตและแก้ไขก่อนเกิดความเสียหายจริง เป็นวิธีสำรวจเพื่อมุ่งวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตและปัจจุบันเพื่อทำนายผลลัพธ์ในอนาคตซึ่งนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และยังเป็นวิธีช่วยสร้างความเข้าใจในเชิงลึกและทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น วิทยาศาสตร์ข้อมูลจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวัฒนธรรมและเศรษฐกิจโลก จึงสำคัญยิ่งสำหรับเราที่สร้างเสริมทักษะที่จำเป็นด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้กับบุคลากรเพื่อทำให้บริษัทจัดการกับข้อมูลได้อย่างชาญฉลาด ผมเชื่อว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการมีอนาคตที่ยั่งยืน ทั้งยังทำให้แน่ใจว่าเราใช้โซลูชั่นที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา”
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยภาครัฐบาลมีเป้าหมายที่จะนำพาประเทศเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” และมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เมื่อบริบททางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้องค์กรสามารถเติบโตในบริบทใหม่ได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
“ผมอยากเห็นคนของเวสเทิร์น ดิจิตอล เก่งยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ในอดีตเราพัฒนาเพื่อนพนักงานเพื่อมาทำธุรกิจ คราวนี้เราอยากจะทำตามใจเพื่อนพนักงานดูบ้าง” ดร. สัมพันธ์ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษา จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการต่อยอดความรู้ให้คนในสังคม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไม่หยุดยั้ง และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล Thailand 4.0 และ Thailand New S-Curve เราจึงริเริ่มโครงการCHULA MOOC Achieve ซึ่งได้พัฒนาต่อจากโครงการการเรียนการสอนออนไลน์ CHULA MOOC เดิม เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ เสริมสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล โดยเพิ่มหลักสูตรสำหรับต่อยอดอาชีพใน 5 สายงาน ได้แก่ การบริหารจัดการ (Management) วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT/Data/Technology) ภาษา (Languages) ศิลปะและการพัฒนาตนเอง (Art&Self Development) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) ซึ่งเราคาดหวังว่าจะมีผู้สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน
"โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ต้องพัฒนาขวนขวายเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา การเรียนรู้ผ่าน CHULA MOOC/CHULA MOOC Achieve เป็นช่องทางในการพัฒนาทักษะ ที่ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา"
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของโครงการ CHULA MOOC Achieve คือมีเนื้อหาเป็นภาษาไทยซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ผู้เรียน สอนโดยอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยการนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงประเด็น กระชับ ชัดเจน ผ่านคลิปวิดีโอมีความยาวในแต่ละตอนประมาณ 7-10 นาที มีการใช้ภาพและกราฟิก กรณีศึกษาใช้ Facebook Group เป็นสื่อกลางในการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนสามารถถาม-ตอบเกี่ยวกับวิชาเรียนได้ทันที ทั้งยังเป็นห้องสนทนา (community) สำหรับสมาชิกในห้องเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ต่างๆ ในหัวข้อที่เรียน มีระบบ Learning Management System (Mycourseville) รวมถึงกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ มีแบบทดสอบท้ายบทให้ผู้เรียนได้ทดลองทำเพื่อประเมินความเข้าใจในแต่ละบทเรียน โดยใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 3 เดือน ผู้เรียนที่เข้าร่วมและผ่านเกณฑ์ตามรายวิชาที่กำหนดจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากCHULA MOOC Achieve 
ดร. ผาณิต เสรีบุรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการหลักสูตร Data Science Pathway และกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ กล่าวว่า สำหรับการเปิดตัวโครงการในวันนี้ ทีมงานจากบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล จำกัด คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงทีมงานดูแลผู้เรียนจากบริษัท บางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัดได้ทำงานใกล้ชิดกันเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมต่อยอดจากการเรียนออนไลน์ Data Science Pathway ไม่ว่าจะเป็น เวิร์คชอปเพื่อเสริมความรู้ด้าน Python และ Rapidminer รวมถึง กิจกรรมพบปะผู้สอนและรับฟังการบรรยายพิเศษที่โรงงาน เวสเทิร์น ดิจิตอล ในจังหวัด ปราจีนบุรี โดยความมุ่งหมายสูงสุดของหลักสูตรคือต้องการให้คนเวสเทิร์น ดิจิตอล เก่งยิ่งขึ้นไปอีก และ ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรด้วยทักษะใหม่ นั่นก็คือ วิทยาศาสตร์ข้อมูล
“ในยุคดิจิทัลเราจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (community) ใหม่ๆ ให้กับผู้เรียน เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีความสามารถและโอกาสใหม่ และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0” ดร. ผาณิต กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น