Breaking News

สกสว.หนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมมลายู

โครงการ “วิจัยและพัฒนาศักยภาพเยาวชนนอกระบบจังหวัดชายแดนใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้” โดยการสนับสนุนจากหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรม “เศษหนึ่งส่วนเสี้ยว” ในโครงการมาโก๊ะจาแว จากรากเหง้าสู่งานหัตถกรรม แบรนด์บาราโหมบาร์ซา ณ Melayu Living ถนนปัตตานีภิรมย์ จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กระจายไปสู่สาธารณชน 

การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่านการสื่อสารการตลาดของนักศึกษาร่วมกับผู้ประกอบการ รวมถึงจัดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมมลายูและนักออกแบบลวดลายที่มีต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนางานต่อไป ซึ่งจะทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าความงามของงานศิลป์มลายู เกิดความคิดในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน และนิเวศวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ในการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์เศรษฐกิจบนฐานทุนวัฒนธรรม


 นายสุรศักดิ์ โภชน์พันธ์ ประธานโครงการมาโก๊ะจาแวฯ กล่าวว่า ทุกที่มีประวัติศาสตร์และมีคุณค่าในตัวเอง ไม่อยากให้เด็กรุ่นใหม่หลงระเริงไปกับวัฒนธรรมอื่นจนลืมรากเหง้าของเรา แต่ควรช่วยกันสร้างสรรค์จนเกิดเป็นแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เรามีต้นทุนทางประวัติศาสตร์อยู่แล้ว สิ่งที่พวกเราได้จากการทำงานนี้คือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน รู้จักแวดวงคนในชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ผ่านการผลิตสื่อ การทำการตลาด และการจัดกิจกรรม เพื่อให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
ด้านนางฟารีดา กล้าณรงค์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์บาราโหมบาร์ซา กล่าวถึงการชักชวนน้อง ๆ ผู้หญิงซึ่งล้วนอยู่นอกระบบการศึกษาเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน โดยทำผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก ของใช้ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ จากการแกะลวดลวยจากเศษกระเบื้องที่อยู่ในถ้วยชามโบราณที่ขุดพบในชุมชน โดยเปิดอบรมการแกะสลักบล็อกไม้แทนจากการใช้บล็อกเหล็ก และต้องสั่งพิมพ์ลายจากรุงเทพฯ ทำให้มีต้นทุนสูง โดยชุมชนมีช่างไม้ที่มีความชำนาญในการแกะลวดลายต่าง ๆ อยู่แล้ว จึงสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์จากทางจังหวัด และการออกแบบลายโลโก้จากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด
“เราอยากให้คนเห็นคุณค่าของชุมชน จึงพยายามสร้างงานสร้างอาชีพทั้งการท่องเที่ยวในชุมชนและงานหัตถกรรม เพื่อดึงคนในชุมชนให้กลับมาอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง จะเห็นว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเด็ก สตรี และคนชรา ส่วนชายวัยแรงงานออกไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในมาเลเซีย ทำให้เกิดปัญหาว่างงาน เด็กติดยาเสพติด แม้รายได้จะไม่เพียงพอถึงขั้นเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ดีกว่ารอเงินจากสามีอย่างเดียว”
นายจิรศักดิ์ อุดหนุน หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ได้ร่วมทำงานกับทีมวิจัยในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ และถอดความรู้การทำงานของกลุ่มเยาวชนตัวแบบที่ริเริ่มสร้างความเป็นผู้ประกอบการนักสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรม อีกทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐานและต้นทุนการทำงาน จัดทำแผนที่ข้อมูลและความเป็นไปได้ของของเยาวชน ตลอดจนถอดบทเรียนตัวแบบที่มีในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนที่ข้อมูลและกลุ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของเยาวชน รวมถึงแผนที่และเส้นทางวัฒนธรรม องค์ความรู้วัฒนธรรมมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบไป อีกทั้งได้ช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น