Breaking News

เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณชายฝั่งปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชหนุนประมงพื้นบ้านยั่งยืน

พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาพบปัญหาทั้งการกัดเซาะและทับถมของตะกอนชายฝั่ง สาเหตุมาจากคลื่นลมในฤดูมรสุมทำให้สภาพคลื่นลมในทะเลมีความสูงและรุนแรง เมื่อคลื่นเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งมีการพาตะกอนทรายจากแนวชายฝั่งออกไปทับถมเป็นสันดอนนอกชายฝั่งทำให้เกิดการกัดเซาะ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ เช่น อิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงของปากแม่น้ำ ความรุนแรงของกระแสน้ำ ส่วนปัจจัยที่เกิดสาเหตุจากมนุษย์อย่างการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบริเวณชายฝั่งทะเล เมื่อเกิดคลื่นขนาดใหญ่เข้ามากระทบชายฝั่งจึงเกิดการกัดเซาะได้ง่าย
อำเภอปากพนัง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีคลื่นขนาดใหญ่พัดถล่มกัดเซาะตลอดแนวชายฝั่ง ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนว ทางหลวงหมายเลข 4013 (ปากพนัง-หัวไทร) สร้างความเสียหายตลอดแนวถนนอย่างหนัก จนแทบไม่สามารถใช้สัญจรไป-มาได้ นอกจากนี้ คลื่นทะเลยังได้กัดเซาะเข้าไปถึงบริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินของประชาชน จนทำให้โฉนดที่ดินของประชาชนกลายเป็นพื้นที่ทะเล เสียสิทธิ์การครอบครองที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ของตัวเองไปโดยปริยาย ส่งผลให้หลายครอบครัวกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ประชาชนจึงรวมตัวกันตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ “ทวงคืนโฉนดทะเล” และยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ประชาชนในพื้นที่ 6 ตำบล ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของอำเภอปากพนัง ทยอยส่งเอกสารหลักฐานโฉนดที่ดิน หรือโฉนดทะเลมามอบให้กับศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ “ทวงคืนโฉนดทะเล” อย่างต่อเนื่อง และได้มีตัวแทนกลุ่มชาวบ้านเดินทางเข้ายื่นหนังสือมติร่วมจากการเสวนาหาทางแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้ดำเนินการตามมติที่เรียกร้อง
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ได้เกิดคลื่นลมแรงตลอดแนวชายฝั่งระลอกที่ 4 ในปี 2559 พื้นที่ชายฝั่ง 6 ตำบลของอำเภอปากพนัง และ 2 ตำบลของอำเภอหัวไทร ได้ถูกคลื่นพัดถล่มรุนแรงมาแล้วจากพายุ 3 รอบก่อนหน้านี้ ได้ออกมารวมตัวเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งแก้ไขปัญหาโดยการสร้างแนวคันกันคลื่นตามแบบ “แหลมตะลุ่มพุกโมเดล” ซึ่งได้ก่อสร้างไปแล้วเป็นระยะประมาณ 15 กิโลเมตร เหลือพื้นที่บริเวณชายฝั่งที่ยังไม่มีการสร้างแนวคันกันคลื่นประมาณ 40-45 กิโลเมตร เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นไปก่อน
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ดินถูกน้ำทะเลกัดเซาะพังลงในทะเล บริเวณพื้นที่ 6 ตำบล ตลอดแนวชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย ตำบลแหลมตะลุ่มพุก ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก ตำบลบางพระ ตำบลท่าพญา ตำบลบ้านเพิง และตำบลขนาบนาก 
กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำการสำรวจรายละเอียดพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกัดเซาะชายฝั่งศึกษาออกแบบก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตั้งแต่บริเวณเหนือคลองบางฉนาก ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก พื้นที่ตำบลบางพระ พื้นที่ตำบลบ้านเพิง จนลงมาด้านทิศใต้สิ้นสุดที่ปากคลองท่าพญา ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง รวมระยะทางประมาณ 9.584 กิโลเมตร
จากผลการศึกษาสามารถสภาพทั่วไป การใช้ประโยชน์ที่ดิน และสภาพการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่โครงการชายฝั่งอำเภอปากพนัง มีแนวทางการแก้ไขปัญหาจากผลการศึกษาทำการสรุปวิเคราะห์ สำรวจ ออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมทั้ง นำความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการออกแบบ โดยการออกแบบโครงสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลนอกจากจะพิจารณาปัจจัยด้านลักษณะภูมิประเทศและสมุทรศาสตร์แล้วยังได้พิจารณาผลการเจาะสำรวจชั้นดินบริเวณที่จะวางตัวเขื่อน เพื่อให้การออกแบบสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพชายฝั่ง และสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีความมั่นคงแข็งแรงตลอดอายุการใช้งาน
ขณะที่เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล (โฉนดทะเล) บริเวณชายฝั่งอำเภอปากพนัง จังหวันครศรีธรรมราช แบ่งออกเป็นเขื่อนหินใหญ่เรียง โดยโครงสร้างหลักเป็นหินขนาดใหญ่นามาเรียงเป็นชั้น ๆ จำนวน 3 ชั้น คือหินชั้นนอก หินชั้นกลาง และหินชั้นใน โดยสันเขื่อนมีความกว้าง 4.0 เมตร แนวการวางโครงสร้างเขื่อนประชิดชายฝั่ง โดยวางนอกแนวเขตที่ดินของประชาชนเป็นหลัก แนวเขื่อนฯ วางยาวต่อเนื่องไปตามแนวชายฝั่ง โดยเว้นช่องว่างบริเวณจุดจอดเรือประมง ปากคลอง และทางระบายน้ำที่สำคัญๆ สำหรับช่วงที่เว้นเป็นพื้นที่จอดเรือประมง จะเสริมเขื่อนด้านในเพิ่มเติม โดยสันเขื่อนกว้าง 2.0 เมตร เพื่อป้องกันมิให้คลื่นเข้าโจมตีชายฝั่ง และสร้างความเสียหายต่อที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ด้านหลังช่องเปิด นอกจากนี้ ตลอดแนวเขื่อนฯ จัดให้มีบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นระยะ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเข้าถึงพื้นที่ชายหาด และทางลาดสำหรับเรือประมงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวประมงในการลากเรือขึ้นฝั่งเพื่อซ่อมบำรุงแซมหรือชักลากเรือขึ้นจอดด้านหลังเขื่อนฯ เพื่อหลบคลื่นลมในฤดูมรสุม
อย่างไรก็ตามได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในพื้นที่จำนวน 2 ครั้ง ในเรื่องของรูปแบบเขื่อนและสรุปภาพรวมของโครงการซึ่งผู้เข้าร่วม เห็นด้วยกับโครงการร้อยละ 84.2 เพราะเป็นการป้องกันการพังทลายของดินชายฝั่งทะเล เป็นโครงการที่มีผลดีมากกว่าผลเสีย ลดการกัดเซาะชายฝั่งในระยะยาว สร้างความสบายใจให้แก่ชาวบ้าน รูปแบบมีความเหมาะสมดูสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถรักษาชายหาดทะเลไว้ได้นาน เป็นโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนและมั่งคงในระยะยาว เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนอย่างเร่งด่วน และช่วยให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายฝั่งให้มีที่ของตัวเองเหลืออยู่ ถ้าไม่มีเขื่อน หรือแนวกั้นคลื่นจะทำให้พื้นที่สูญเสียไป 
สำหรับเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล (โฉนดทะเล) บริเวณชายฝั่งอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งเป็น 5 ปีงบประมาณ เริ่มก่อสร้างปีงบประมาณ 2559 ถึงปีงบประมาณ 2563 รวมระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2559 ความยาว 2,005 เมตร เป็นเงิน 138,281,000 บาทปีงบประมาณ 2560 ความยาว 2,634 เมตร เป็นเงิน 156,753,000 บาท ปีงบประมาณ 2561 ความยาว 1,666 เมตร เป็นเงิน 103,770,000 บาท ปีงบประมาณ 2562 ความยาว 3,609 เมตร เป็นเงิน 263,700,000 บาท และปีงบประมาณ 2563 ความยาว 492 เมตร เป็นเงิน 45,000,000 บาท


 


ไม่มีความคิดเห็น