อพท. เดินหน้าพัฒนาเส้นทางจักรยานเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา
อพท . เร่งศึกษาเส้นทางจักรยานเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา หวังดึงนักปั่น ท่องเที่ยววิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชน และอาหารถิ่น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบเส้นทางจักรยานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบครอบครัว โดยเส้นทางจักรยานเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองพัทยาบริเวณทางหลวงชนบท และเป็นเส้นทางท่องเที่ยวในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เชื่อมโยงจากสนามบินอู่ตะเภาสู่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ในแนวทางหลวงชนบท หมายเลข ชบ.1077 จากแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 332 ถึงถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร
โดยศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงเส้นทางหลักไปสู่เส้นทางรองในแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ที่สำคัญจะช่วยยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ การออกแบบกิจกรรมจะสอดรับกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น และการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เช่น การท่องเที่ยวในเส้นทางวิถีชีวิตชุมชน การศึกษาเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงการบริโภคอาหารจากชุมชนท้องถิ่น
ทั้งนี้ การออกแบบกิจกรรมจะสอดรับกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น และการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เช่น การท่องเที่ยวในเส้นทางวิถีชีวิตชุมชน การศึกษาเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงการบริโภคอาหารจากชุมชนท้องถิ่น
เมื่อเส้นทางจักรยานออกแบบและก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นในพื้นที่ อยู่ใกล้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที สามารถไปท่องเที่ยวที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เรือหลวงจักรีนฤเบศร ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล ตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว ขณะเดียวกัน ยังสามารถท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่อยู่ใกล้ เช่น วัดญาณสังวรารามราชวรวิหาร พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ สวนองุ่นซิลเวอร์ เลค สวนนงนุชพัทยา สวนน้ำรามายณะอีกด้วย
ดร.ชูวิทย์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าว เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เช่น แขวงทางหลวงชนบทชลบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง ฐานทัพเรือสัตหีบ และชาวชุมชน ซึ่งจะปรับปรุงเส้นทางให้มีความเหมาะสม ส่งผลดีต่อการสัญจรของประชาชน โดยมีเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยานไปใช้จ่ายในแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยว 12,376 คน แยกเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวมาปั่นจักรยาน 2,582 คน และเป็นกลุ่มศึกษาดูงานนักท่องเที่ยวไม่ปั่นจักรยาน จำนวน 9,794 คน ขณะที่ปีนี้ มีนักท่องเที่ยว 2,159 คน เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาลดลง เป็นนักท่องเที่ยวมาปั่นจักรยาน 97 คน ศึกษาดูงานและท่องเที่ยวทำกิจกรรม 2062 คน มีรายได้ 228,150 บาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา อพท.จับมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพัทยา ด้วยรถไฟ และนำจักรยานมาด้วย เมื่อมาถึงพัทยา นักท่องเที่ยวสามารถขี่จักรยานท่องเที่ยวได้ตามเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปีหน้า อาจจะไปเจรจาขอความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อนำนักท่องเที่ยวมาขี่จักรยานที่พัทยาอีก ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจจะนำจักรยานมาเอง หรือมาเช่าจักรยานที่ชุมชนได้ เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว
โดยก่อนหน้านี้ มี 3 เส้นทางจักรยาน ได้แก่ 1.เส้นทางท่องเที่ยวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) วัดญาณสังวราราม และเดินทางเชื่อมโยงสู่ตลาดจีนโบราณชากแง้ว พื้นที่เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ 2.เส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานชุมชนต้นแบบนาเกลือ สะพานปลานาเกลือ กลุ่มประมงเรือเล็กนาเกลือ และ 3. เส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายหาดพัทยาเหนือ กลาง ใต้ และแหลมบาลีฮาย
ไม่มีความคิดเห็น