Breaking News

อพท.เปิดเว็บแอปพลิเคชัน “CBT Thailand” ดึงคนรุ่นใหม่ไปท่องเที่ยวโดยชุมชน

อพท. ยกระดับให้บริการ พัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน “CBT Thailand” เสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่สืบค้นข้อมูลก่อนเดินทาง พร้อมเพิ่มบริการชุมชนที่สนใจยกระดับมาตรฐานได้เข้าใช้บริการประเมินตัวเอง เพื่อรับคำแนะนำปรับปรุงตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมเปิดให้บริการกลางเดือนพฤศจิกายนนี้
ดร. ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักพัฒนาขีดความสามารถ (สพข.) และสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) ร่วมมือกันพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism - CBT) ในชื่อ “CBT Thailand” ซึ่งจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปและผู้สนใจในกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยเว็บแอปพลิเคชันดังกล่าวจะให้บริการใน 2 รูปแบบ คือ ให้บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และบริการระบบประเมินตนเองให้แก่ชุมชนที่สนใจเข้าสู่มาตรการการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้เกณฑ์ CBT Thailand

สำหรับรูปแบบแรก การบริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการคือ นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป ผู้สนใจ ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสหกรรมการท่องเที่ยว โดยจะเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ อพท. ได้ลงไปร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนจนผ่านเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือเกณฑ์ CBT Thailand มีความพร้อมเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ
ในเบื้องต้น อพท. ได้นำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจาก 81 ชุมชนที่ผ่านการพัฒนาจาก อพท. เป็นที่เรียบร้อยแล้วบรรจุไว้ในเว็บแอปพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งคาดหวังว่าข้อมูลชุมชนท่องเที่ยวที่นำเสนอจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวไปในชุมชนที่มีมาตรฐาน และจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวเดิมแต่เพิ่มเติมคือกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ ชุมชนใหม่ๆ หรือเป็นเดสติเนชั่นใหม่ที่ยังไม่เคยไป ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็สามารถนำข้อมูลจากเว็บแอปพลิเคชันนี้ ไปจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวนำเสนอขาย ซึ่งจะเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
“ข้อมูลที่แสดงในแอปพลิเคชั่นนี้จะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรม ร้านอาหาร ที่พัก สินค้าของที่ระลึก ที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว โดยถือเป็นการอำนวยความสะดวก และตอบไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวยุคปัจจุบัน และการท่องเที่ยวแบบ New Normal ซึ่งจะเป็นเทรนด์นับจากนี้ต่อไป ”
การบริการรูปแบบที่ 2 คือ ระบบการประเมินชุมชน (Self-Assessment) กลุ่มเป้าหมายคือ ชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่สนใจ และต้องการยกระดับมาตรการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนของตัวเอง โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนในเว็บแอปพลิเคชัน กรอกข้อมูลตามความเป็นจริง เพื่อประเมินให้ทราบขีดความสามารถของชุมชนตัวเอง โดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนหรือ CBT Thailand เป็นตัววัดค่าความมาตรฐาน ซึ่งจะมีทั้งหมด 5 ด้าน 100 ข้อ ทั้งนี้การประเมินตัวเองในเบื้องต้นของชุมชน จะทำให้ทราบว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนในด้านใด จะทำให้ชุมชนและหน่วยงานพี่เลี้ยง สามารถร่วมมือกันในการขับเคลื่อนและเสริมสร้างศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเข็มแข็งในการรองรับการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนที่แท้จริง
รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า แอปพลิเคชัน CBT Thailand เป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารไปยังสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลให้เกิดการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถตอบโจทย์และสนับสนุนการทำงานของ อพท. ในการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Communication) ที่ทันต่อกระแสยุคดิจิทัล ในการเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว ได้อย่างรวดเร็วและตรงถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในพื้นที่พิเศษของ อพท. เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน เกิดการพัฒนาทั้งในด้านกายภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของรัฐบาล





ไม่มีความคิดเห็น