Breaking News

อพท. เร่งสยายปีกสร้างเครือข่ายอีสานใต้เชิญชวน อปท. เข้าร่วมเครือข่ายเสริมทัพ

อพท. ขยายเครือข่าย อพท. น้อย คลัสเตอร์อีสานใต้ เดินสายเชิญชวนและให้ความรู้มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งเป้าปี 64 มีหน่วยงานผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 7 แห่ง เล็งปีนี้เดินหน้าขยายผลคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ให้เกิดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พร้อมนำเสนอข้อดีของการเป็นเครือข่าย อพท. มี แอพพลิเคชั่น ช่วยสนับสนุนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท.
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มอบสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว (สพข.) และสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ จัดประชุมชี้แจงความสำคัญและแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) ให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) และการประเมินสถานะเบื้องต้นขององค์กรเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน STMS
ทั้งนี้ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา อพท. ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรฐาน STMS ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาแล้วหลายพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันมีองค์กรที่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐาน STMS แล้วจำนวน 62 องค์กร อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดน่าน จังหวัดเลย จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดชุมพร จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดระยอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสุรินทร์ และในปี 2564 อพท. ตั้งเป้าดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรฐาน STMS ให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกอย่างน้อย 7 แห่งใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดพะเยา และจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักสากล

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน STMS หรือที่รู้จักกันในชื่อ อพท. น้อย เป็นเครื่องมือในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ อพท. พัฒนาขึ้นสำหรับส่งเสริมให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมการท่องเที่ยว ได้นำไปพัฒนาและยกระดับศักยภาพพื้นที่ของตัวเอง ให้มีแนวทางปฏิบัติในด้านการจัดการการท่องเที่ยว และสามารถหารายได้เสริมที่เพิ่มมาจากการให้บริการทางการท่องเที่ยวได้เป็นผลสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านมามาตรฐาน STMS แล้ว อพท. ก็ยังให้การดูแลและติดตามความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ ปีละ 1 ครั้งเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจได้อย่างถูกต้องในการดำเนินงานตามมาตรฐาน STMS ของ อพท.

อย่างไรก็ตาม อพท. มีโอกาสได้ร่วมประชุมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงในนำเสนอในที่ประชุมรับทราบถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Smart DASTA และ CBT Thailand รวมทั้งระบบสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. เพื่อเป็นช่องทางให้ภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ อพท. สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น Smart DASTA และ CBT Thailand ที่จะช่วยสนับสนุนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท.
สำหรับเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีษะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่ง อพท. ได้เริ่มเข้าไปพัฒนาในพื้นที่โดยใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ตั้งแต่ปี 2562 และในปี 2564 นี้ มีแผนดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เพื่อต่อยอดคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนให้พื้นที่อีสานใต้ ให้เกิดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น