ททท. ร่วมฉลองปีใหม่ไทย จัดงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” สืบสานวัฒนธรรมผสานวิถีใหม่ ตอกย้ำภาพลักษณ์ Top of mind ในใจนักท่องเที่ยว
เช้าวันนี้ (5 เมษายน 2565) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมนายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมประชาสัมพันธ์กิจกรรม “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” แก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทยด้วยวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 มีมติให้สามารถจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์และสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยเน้นย้ำการปฏิบัติตามประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์แต่ละภูมิภาค เช่น รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยที่สื่อถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี ในการนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. เตรียมจัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ช่วงระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี โดยคนไทยโบราณให้ความสำคัญว่า วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันผู้สูงอายุ วันที่ 14 เมษายน กำหนดให้เป็นวันครอบครัว และวันที่ 15 เมษายน ถือว่าเป็นวันเถลิงศก เริ่มจุลศักราชใหม่ตามความเชื่อไทยโบราณ จึงเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดประชาสัมพันธ์ประเพณีไทยควบคู่กับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง นำไปสู่การเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวมุมมองใหม่ที่มีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจ ในปีท่องเที่ยวไทย 2565 หรือ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters ตลอดจนสร้างความมั่นใจในการบริหารจัดการความปลอดภัยของสถานประกอบการตามมาตรฐาน SHA
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. เดินหน้าพลิกโฉมปีท่องเที่ยวไทย 2565 ด้วย Soft Power คือ 5F : 4M คือ Food Film Fashion Festival Fight Music Museum Master และ Meta ซึ่งการจัดเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ Festival นั้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสร้างสีสันให้แก่การเดินทางภายในพื้นที่ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ททท. ได้พิจารณาปรับแผนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเน้นนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านคุณค่าของวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นและการแสดงดนตรี อาทิ โขน และดนตรี ร่วมสมัย พร้อมจัดสรรโซนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ควบคู่กับการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทยให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงสำหรับ “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” พื้นที่ที่ ททท. ดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 งานหลัก ได้แก่ งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565 และ งาน Songkran Music Heritage Festival 2022 ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ณ พระอารามหลวง 10 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ถ่ายทอดงขนบธรรมเนียมประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด” เนรมิตบรรยากาศปีใหม่ไทย เติมความสุขประทับใจ ผ่านกิจกรรมการสรงน้ำพระขอพร เสริมสิริมงคล ถ่ายภาพกับแลนด์มาร์ก พร้อมร่วมสนุกวิถีไทยกับ AR สงกรานต์กับน้องสุขใจ และเล่นเกม E-Stamp รับของที่ระลึกจาก ททท.
กิจกรรมไฮไลท์ : วันที่ 13-15 เมษายน 2565 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสระเกศ
ราชวรมหาวิหาร ชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อาทิ การแสดงโขน ตำนานนางสงกรานต์ การแสดงลำตัดแม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์ การแสดงชุดเภรีก้องหล้า เบิกฟ้า มหาสงกรานต์ การแสดงหุ่นละครเล็ก ระบำเทพบันเทิง การแสดงโขนสมมติอยุธยา และการละเล่นไทย รวมถึงการสาธิต DIY งานหัตกรรมไทย
2. งาน Songkran Music Heritage Festival 2022
จัดขึ้นในวันที่ 12-21 เมษายน 2565 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเมืองเก่า จังหวัดสงขลา และวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พาสัมผัสวัฒนธรรมผสานการแสดงดนตรี ภายใต้แนวคิด “Songkran Music Heritage 2022” สะท้อนอัตลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาไทย ร่วมกับนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่มรดกโลกอันทรงคุณค่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และส่งต่อไปยังจังหวัดสงขลา
เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป
กิจกรรมไฮไลท์ : จังหวัดสงขลา ล่องใต้สืบสานประเพณีไทยด้วยการแต่งกายผ้าประจำถิ่นเข้าร่วมงาน
สวมผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก ทำกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย ร่วมกิจกรรมสาธิตอาหารท้องถิ่น อาทิ ยำสายเกาะยอ ข้าวยำปักษ์ใต้ ขนมไข่เตาถ่าน เต้าคั่ว พร้อมชมการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โนรา และการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดัง ก่อนชื่นชมบรรยากาศการประดับตกแต่งเพดานถนนจากกรงนกหัวจุก ว่าวธงสามเหลี่ยม และโคมไฟจีนประดับเฉดสีตามลูกปัดโนรา สะท้อนกลิ่นอายเมืองเก่าสงขลา พร้อมแวะเช็กอินถ่ายภาพแลนด์มาร์กจากผ้าทอเกาะยอ และเดินเที่ยวด้วย Mapping Story เล่าเรื่องเมืองสงขลาไปกับตัวการ์ตูนน้องนางเงือกมิลา ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการออกร้านขายอาหารและสินค้าประจำถิ่นของจังหวัดสงขลาให้ได้เลือกซื้อและอุดหนุนกันด้วย
กิจกรรมไฮลท์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าขานเรื่องราวแห่งเมืองมรดกโลก รณรงค์แต่งชุดไทยเข้าร่วม
ทำกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย ชมสาธิตงานหัตถกรรม สานปลาตะเพียน เพลิดเพลินกับการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โขน ลิเก และการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดังของประเทศไทย ไม่เพียงเท่านั้น ยังขอเชิญชวนออเจ้ามาถ่ายภาพและร่วมจัดทำ Visual idea Decoration โดยนำช้างและปลาตะเพียนสาน สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์มาตกแต่งบริเวณกำแพงอุโมงค์ และออกสำรวจเรื่องราวเมืองอยุธยาไปพร้อมกับมาสคอส น้องชื่นใจและปลาตะเพียน ก่อนชิม ช้อป อาหารประจำถิ่นและสินค้าเด่นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเต็มอิ่ม
นอกจากนี้ ททท. ยังได้สนับสนุนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ในพื้นที่เอกลักษณ์ทั่วประเทศ อาทิ งานไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2565 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -17 เมษายน 2565) , งาน Water Festival เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี ขอนแก่น และภูเก็ต (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -15 เมษายน 2565), งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2565 จังหวัดสมุทรปราการ (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2565),งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2565 จังหวัดขอนแก่น (จัดขึ้นระหว่างวันที่วันที่ 11-15 เมษายน 2565) งานประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์ และของดีตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน) 2565 เป็นต้น
ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ทั่วประเทศมีการจัดกิจกรรมรับปีใหม่ไทยที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ อาทิ กิจกรรม“น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” จังหวัดเชียงใหม่ (จัดขึ้นวันที่ 12 เมษายน 2565 และสามารถรับน้ำทิพย์ปี๋ใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2565), กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุเชิงชุม จังหวัดนครพนม (ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2565), งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2565 (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 16 เมษายน 2565), งานย้อนอดีตมหาสงกรานต์กรุงเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565) เพื่อนำพานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมสัมผัสบรรยากาศและสืบสานประเพณีไทย พร้อมส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบ Local Experience ที่จะช่วยเติมเต็มคุณค่าเหนือราคา ตอกย้ำภาพลักษณ์วัฒนธรรมไทยให้อยู่ในใจ (Top of Mind) ของนักท่องเที่ยว และต่อยอดสู่การเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างยั่งยืน (Preferred Destination) ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น