Breaking News

“สวพส.” จับมือ “องค์การสวนพฤกษศาสตร์” หนุนความร่วมมือทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ หรือ อสพ. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมมือทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดการอนุรักษ์ การวิจัย และการนำทรัพยากรพันธุ์พืชมาใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากร เพื่อการวิจัย การอนุรักษ์ รวมทั้งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสร้างความตระหนัก ให้สาธารณชนเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของพันธุ์พืชทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

11 เมษายน 2565 – สำนักวิจัย และอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำโดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ นำโดย นายพรชัย หาญยืนยงสกุลกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ โดยมี นางสาวรัชดา พงษ์สัตยาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและอนุรักษ์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมทั้งนำเสนอการดำเนินงานด้านการวิจัยและอนุรักษ์ ของ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ พร้อมด้วย นางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์  ดร.เพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ด้านการพัฒนา และ นางสาวปัถวี แสงฉาย ผู้อำนวยการสำนักบริหาร องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน 

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การสวนพฤกษศาสตร์ในครั้งนี้มีที่มาจากการที่หน่วยงานทั้งสองได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการประสานความร่วมมือ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน โดยการให้ความร่วมมือในการสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพฤกษศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง ระบบนิเวศ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดการอนุรักษ์ การวิจัย และการนำทรัพยากรพันธุ์พืชมาใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย 
โดย สวพส. มีพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อสืบสานพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชนบนพื้นที่สูง ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและการเรียนรู้ของโครงการหลวง ในการเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งเผยแพร่และเรียนรู้ด้านการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ ศาสตร์พระราชา งานโครงการหลวง การวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง วัฒนธรรม และการให้บริการสังคม
ด้าน นายพรชัย หาญยืนยงสกุล กรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กล่าวว่า การบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 - วันที่ 10 เมษายน 2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมมือทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดการอนุรักษ์ การวิจัย และการนำทรัพยากรพันธุ์พืชมาใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการวิจัย การอนุรักษ์ และการพัฒนา รวมทั้งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ปลูกฝังและสร้างความตระหนัก ให้สาธารณชนเห็นถึงคุณค่า ความสำคัญของพันธุ์พืชและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ในการเป็นแหล่งอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด เพื่อการเรียนรู้ และความมั่นคง ยั่งยืนด้านทรัพยากรพันธุ์พืชและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งสองหน่วยงานสามารถสร้างผลงานทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ที่ตอบโจทย์และมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต 
ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูงกับองค์การสวนพฤกษศาสตร์ จะเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง ตลอดจนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ การพัฒนายกระดับสวนพฤกษศาสตร์ของทั้งสองหน่วยงานเข้าสู่มาตรฐานของ Botanical Gardens Conservation International (BGCI) ตลอดจนการพัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม ที่มีความสวยงามและยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น