Breaking News

ครั้งแรกของประเทศไทย วธ. โชว์ลายผ้าอัตลักษณ์ 76 จังหวัด และจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ผ้าไทยไว้ได้อย่างครบถ้วน ให้ประชาชนโหลด E-book อ่านฟรี พร้อมจัดทำเป็นจดหมายเหตุฯ ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ


นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสรัฐบาลประกาศให้ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงมุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นและการรณรงค์ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย รวมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน “Soft Power” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพโดยเฉพาะการพัฒนาผ้าไทย การออกแบบลวดลายและแฟชั่น เพื่อยกระดับผ้าไทยสู่สากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน” ส่งเสริมให้วัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ วธ. จึงจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” วันที่ 11-14 สิงหาคม  2565 ณ ชั้น 5 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน




นายอิทธิพล กล่าวว่า วธ. โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ จึงร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมของจังหวัด คัดเลือกผ้าไทยลายอัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงมรดกภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีและประวัติศาสตร์อันโดดเด่นของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีทั้งที่เป็นลายโบราณ และลายที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่ของประเทศไทยที่จะมีผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดครบ 76 จังหวัด เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ และจะนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้รับชมเป็นนิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ อาทิ ผ้าทอลายดอกปีบ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่ง “ปีบ” เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิษณุโลก ได้รับพระราชทาน “กล้าไม้ปีบ” จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากนั้นจังหวัดพิษณุโลกรณรงค์ให้มีการทอผ้าลวดลายประจำจังหวัดอย่างต่อเนื่อง, ภาคกลาง อาทิ ผ้าซิ่นตีนจกลายปลาสังคโลก (ลายปลาคู่) จังหวัดสุโขทัย เป็นการผสมผสานลายจกที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ผสมกับการคิดค้นลายสังคโลก ที่นำเอาลายปลาคู่และลายดอกมาดัดแปลงเป็นลายจกบนผืนผ้า มีความหมายว่า ความอุดมสมบูรณ์  ความรุ่งเรื่อง ร่มเย็น และการมีคู่ครองที่มั่นคง



ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ผ้าลายแคนแก่นคูน (KAN-KAEN-KOON) จังหวัดขอนแก่น มีความหมาย คือ แคน (KAN) คือ King Of Music ของคนขอนแก่น, แก่น (KAEN) คือ King Of Esan หมายถึงมหานครขอนแก่น อันเป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน , คูน (KOON) คือ King Of Tree and Flower หมายถึง ต้นไม้ของพระราชา ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ อาทิ ผ้าลายแก้วชิงดวง จังหวัดตรัง เป็นวงกลมเกี่ยวร้อยทับกัน เปรียบเสมือนการสร้างความสัมพันธ์ ความรักสามัคคี และเป็นศูนย์รวมใจของสมาชิกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีในชุมชนจังหวัดตรัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ทั้งในแบบรูปเล่ม โดยจะเพิ่มเนื้อหาในเรื่องผ้าโบราณ ศิลปินแห่งชาติ ด้านการทอผ้า และออกแบบแฟชั่น ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ผ้าไทยไว้ได้อย่างครบถ้วน พร้อมจัดทำในรูปแบบ E-book ทั้งนี้วธ. จะมีการบันทึกลายผ้าอัตลักษณ์ 76 จังหวัดและหนังสือเล่มนี้เป็นจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย และยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม 1765 

ไม่มีความคิดเห็น