Breaking News

นายกรัฐมนตรี เปิดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” อย่างยิ่งใหญ่ ชมแฟชั่นโชว์ผ้าไทยจาก 4 ดีไซเนอร์ และการแสดง “จินตลีลาพัสตราภรณ์ : มโนราห์บัลเลต์” วธ. เชิญร่วมชมความงดงาม ช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าไทย 11-14 ส.ค. 65 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีเปิดงาน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” โดยมีนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และคู่สมรส นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางเกตุวลี นภาศัพท์ กรรมการกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ นายประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายบริหารทั่วไป บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คณะทูตานุทูต ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน





ภายในพิธีเปิดงานนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ร่วมชมการแสดงแบบผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค จาก 4นักออกแบบชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ 1.พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ (แบรนด์ PICHITA) ผ้าภาคเหนือ 2.ศิริชัย ทหรานนท์ (แบรนด์ THEATRE) ผ้าภาคกลาง 3.อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ (แบรนด์ SURFACE) ผ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4.หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล (แบรนด์ SANTI SUK SPACE)ผ้าภาคใต้, การแสดง “จินตลีลาพัสตราภรณ์ : มโนราห์บัลเลต์” และเยี่ยมชมนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่11 - 14 สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน




การจัดงานครั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กระทรวงพาณิชย์ กรมหม่อนไหม กรมการพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามพารากอน และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจจำกัด(มหาชน) จัดขึ้นเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมี พระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” เป็นที่ประจักษ์ยาวนานตลอด 70 ปี ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ประกอบกับ ครม.เห็นชอบให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ การเสวนา การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และการแสดงแบบผ้าไทย การออกร้านและจำหน่ายผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าแบบครบวงจร การเปิดเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ในอุตสาหกรรมผ้าทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย

1. นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “อัคราภิรักษศิลปิน” นิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและ
พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการฟื้นฟู การอนุรักษ์ สืบสานมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยจากรุ่นสู่รุ่น ตลอดจนส่งเสริม พัฒนา "ผ้าไทย" ทั่วประเทศ นำไปสู่
การต่อยอดและยกระดับผ้าไทยไปสู่เวทีโลก

2. นิทรรศการ “ลายศิลป์แห่งเส้นไหม : มรดกไทยสู่สากล” (The Art of Thai Silk: Thai
Heritage from the Kingdom to the World) นำเสนอพระราชปณิธาน
และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ตลอดจนสร้างสรรค์ต่อยอด “ผ้าไทย” และเผยแพร่ผ้าไทยในต่างประเทศ มีการแสดงชุดไทยพระราชนิยม อาทิ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์

3. นิทรรศการ 12 สิงหาคม วันผ้าไทยแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ และนำเสนอนิทรรศการวันผ้าแห่งชาติของนานาชาติ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐมาเลเซีย

4. นิทรรศการศิลป์แห่งแผ่นดิน “ศิลปินแห่งชาติ” จัดแสดงผลงานการทอผ้าของนายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) ปี 2564 จำลองบรรยายบ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงผ้าโบราณที่หาชมได้ยาก และกรรมวิธีการทอผ้าอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของบ้านคำปุนที่สร้างชื่อเสียงให้ผ้าทอไทยในระดับนานาชาติ

5. การแสดงสินค้าและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ผ้าอัตลักษณ์จาก 76 จังหวัด โดยกระทรวงวัฒนธรรม
ร่วมกับภาคีเครือข่าย ศึกษา สืบสาน ประกาศผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ทั้งที่ออกแบบจากลายดั้งเดิมหรือสร้างสรรค์ลายขึ้นมาใหม่
นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัด

6. 4 สุดยอดนักออกแบบ ที่มีผลงานในระดับนานาชาติ ได้แก่ 1) พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ (แบรนด์ PICHITA) ผ้าภาคเหนือ 2) ศิริชัย ทหรานนท์ (แบรนด์ THEATRE) ผ้าภาคกลาง 3) อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์  (แบรนด์ SURFACE) ผ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4) หิรัญกฤษฏิ์  ภัทรบริบูรณ์กุล (แบรนด์ SANTI SUK SPACE) ผ้าภาคใต้

7. อัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่ภูษาศิลป์ร่วมสมัย จัดแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยจากโครงการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้
โดยได้เชิญดีไซน์เนอร์ชั้นนำมาร่วมออกแบบ อาทิ นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ (แบรนด์ T-RA) เอก ทองประเสริฐ
(แบรนด์ เอก ทองประเสริฐ์)




นอกจากนี้ยังมี “การแสดงศิลปวัฒนธรรม” อาทิ การแสดง “จินตลีลาพัสตราภรณ์ : มโนราห์บัลเลต์”ประกอบด้วย การแสดงชุด “เฉลิมราชพัสตรา” เป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผ้าไทยและการแสดง “บัลเล่ต์ มโนราห์” ที่ผสมผสานของศิลปวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกถือกำเนิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ รวมไปถึงการแสดงดนตรีและขับร้อง ชุด“บทเพลงในความทรงจำ” ที่รวบรวมบทเพลงทรงโปรดของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านการบรรเลงดนตรีโดยวงดนตรีเฉลิมราชย์ การแสดง “โขน”จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่มุ่งเผยแพร่คุณค่าและความสำคัญของโขนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงทำนุบำรุงโขน ทรงฟื้นฟูสืบศาสตร์ศิลป์แผ่นดินหลายแขนง ที่เกี่ยวเนื่องกันกับการแสดงโขนการเสวนาทางวิชาการ จากศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและดีไซเนอร์ชื่อดังให้ความรู้ในเรื่องผ้าที่น่าสนใจ อาทิ 1. เสวนาหัวข้อ “ภูษาพัสตรา เฉลิมหล้าเฉลิมพระชนม์” โดยกรมศิลปากร อาทิ การเสวนาเรื่อง “อัตลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล”, เรื่อง “ต่อลมหายใจผ้าโบราณ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” และเรื่อง “การแสดงพระราชทานราชพัสตราภรณ์” 2. การเสวนาหัวข้อ “อัตลักษณ์ผ้าไทย 4 ภาค” โดยกรมศิลปากร และ 3. การเสวนาหัวข้อ “แนวทางการส่งเสริมผ้าไทยร่วมสมัยให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมในตลาดโลก”



การจัดแสดงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) จากผ้า ชมผลงานผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยจากผู้ประกอบการ ชุมชนคุณธรรมฯและเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์พัฒนา ต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในรูปแบบหลากหลาย เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้านรวมทั้งงานศิลปหัตถกรรมประเภทต่าง ๆ พร้อมการบริการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าครบวงจรการออกร้านจำหน่ายผ้าและผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าจากชุมชนและผู้ประกอบการ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นการจำหน่ายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ผ้าไทยประเภทต่าง ๆ ผ้าแฟชั่นลวดลายร่วมสมัย เครื่องแต่งกาย พร้อมทั้งการบริการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าครบวงจรที่สำคัญภายในงานนี้จะมีการจัดแสดง หนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” นำเสนอพระราชประวัติและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผ้าโบราณ ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดผลงานของศิลปินแห่งชาติ เป็นองค์ความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน ประชาชนตลอดจนนักออกแบบและผู้ประกอบการได้ใช้ศึกษาหาความรู้ เพื่อประโยชน์ด้าน การเรียน ต่อยอดธุรกิจ สร้างความภาคภูมิใจในผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นให้ดำรงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชาติต่อไป ทั้งนี้วธ.ได้เผยแพร่หนังสือดังกล่าวในรูปแบบ E-book ทาง www.m-

culture.go.th/adminli/ebook/B0188/#p=5

พลาดไม่ได้กับ กิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ครั้งแรกของการเจรจาการค้าให้กับชุมชนและผู้ประกอบการผ้าไทยมีโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบBusiness Pitching กับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โดยภายในประเทศ
กลุ่มผู้ค้ารายใหญ่กว่า 40 ราย อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรม สมาคมสตรีเพื่อสตรี สโมสรซอนต้ากรุงเทพ ห้องเสื้อ ร้านค้าปลีกชั้นนำ และกลุ่มนักออกแบบ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเจรจาในรูปแบบออนไลน์จากต่างประเทศ อาทิ Delhi Crafts Council
จากประเทศอินเดีย, World Craft Council Asia Pacific Region, Craft Revival Trust รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ อาทิ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

รัฐบาล โดย วธ.จึงขอเชิญร่วมงานเฉลิมพระเกียรติฯ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” วันที่ 11-14
สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อน Soft Power ความเป็นไทย โดยเฉพาะผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแก่ชุมชนและประเทศ รวมทั้งการยกระดับผ้าไทย สู่สากล และสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชน ผู้ประกอบการพลิกฟื้นต่อลมหายใจให้ผ้าไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม 1765

ไม่มีความคิดเห็น