Breaking News

สกสว. เดินหน้าขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เสริมทัพ ววน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า

หากจะพูดว่าทุกสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนมีที่มาจากงานวิจัยก็คงจะไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร เครื่องสำอาง รวมไปถึงนวัตกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คืออีกหนึ่งหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการให้ทุนวิจัย เพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยถูกนำมาใช้ให้เกิดผลสำเร็จ ภายใต้การนำของ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.

“สกสว. เป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ความสำเร็จของหลายงานมีบทบาทของภาคีที่สำคัญมากที่ทำงานร่วมกับ สกสว. ทั้งหน่วยบริหารจัดการทุนทั้ง 9 หน่วย รวมถึงหน่วยวิจัยและหน่วยงานพัฒนานวัตกรรม 170หน่วยงานทั่วประเทศ เราจะต้องขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าโดยการมีส่วนร่วมพันธกิจของเราคือการทำงานร่วมกันและประสานในเชิงระบบ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับหน่วยงานที่เป็นหน่วยพัฒนา ซึ่งเราเริ่มต้นด้วยการทำแผนด้าน ววน. เพื่อให้รู้ทิศทาง จัดสรรงบประมาณ เสริมพลังให้หน่วยงานที่รับงบประมาณเพื่อให้ทำพันธกิจในการทำวิจัยได้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงพยายามผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และติดตามประเมินผลซึ่งจะนำมาสู่ผลงานในรอบต่อไปให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าวอีกว่า เรากำลังเข้าสู่แผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 ระยะ 5 ปี โดยใช้ทิศทางของโลก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนพัฒนาฉบับต่าง ๆ แผนการเรียนรู้ และมติ ครม. เป็นตัวกำกับทิศทางในภาพใหญ่ นอกจากนี้เราจำเป็นต้องทราบความต้องการของแต่ละพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ว่า วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยสนับสนุน รวมถึงการวิจัยเชิงระบบว่าโลกข้างหน้าจะไปอย่างไร ปัจจุบันอยู่ตรงไหน และจะนำความรู้ไปเติมเต็มช่องว่างอย่างไร เพื่อพลิกโฉมให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ สกสว. มีการจัดสรรงบประมาณตามแผน 3 ก้อนใหญ่ ทั้งการพัฒนาสังคมพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนาคนและองค์ความรู้สู่อนาคต ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เกิดผู้ประกอบการ SMEs 500 ราย ใน 48 จังหวัด วิสาหกิจชุมชน นักวิทยาศาสตร์และวิจัยในอุตสาหกรรมและชุมชน 3,200 ราย


“หลังจากนี้เราจะบูรณาการระบบพื้นที่ พัฒนานักวิจัยในพื้นที่ และเมืองศูนย์กลางเพื่อพัฒนาพื้นที่ เราพร้อมสนับสนุนการทำงานและวิจัยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หวังว่าการจัดเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 “TSRI Annual Symposium 2022” ขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเปิดแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า” รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าว





ไม่มีความคิดเห็น