สกสว. เสริมเขี้ยวเล็บ ววน. ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ชุมชนเพื่อประชาชน พัฒนา สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“งานวิจัยสู่ชุมชนเพื่อประชาชน” อีกหนึ่งบทเสวนาบนเวทีสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2565 (TSRI Annual Symposium 2022) ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต มุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมแสดงเจตนารมณ์ด้วยงานวิจัยนำไปสู่การพัฒนาอย่างแท้จริงและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้นำเสนอว่า งานวิจัยผลักดันรัฐบาลดิจิทัลและรัฐบาลระบบเปิด แนวคิดการมีส่วนร่วม มี 8 องค์ประกอบ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การมีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการเปิดระบบราชการ การสร้างภาคีเครือข่าย การสร้างแรงจูงใจ การสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากร การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การติดตามนโยบายภาครัฐ และการสร้างนวัตกรรมองค์กร โดยสำนักงาน ก.พ.ร. และ สกสว. สร้างเครือข่ายองค์ความรู้ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมาก จึงคิดว่าจะหยิบงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ยกตัวอย่าง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่นำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษ PM 2.5 ร่วมกับประชาชนในพื้นที่
ผศ. ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ ประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง โดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืน ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ชาวบ้านหาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อวิจัยและต่อยอดควบคู่กับการใช้ประโยชน์ สร้างความยั่งยืนชุมชนเกาะสีชัง และเป็นแลนด์มาร์ก รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวของเกาะสีชัง และจังหวัดชลบุรี จนขยายในหลายพื้นที่ เช่น สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และระยอง เพื่อสร้างธนาคารปูม้า ทำมา 3 ปี ปล่อยลูกปูได้ 2 หมื่นล้านตัว รอด 21 ล้านตัว โอกาสลูกปูรอดคิดเป็น 0.001 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 13 ล้านบาท เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ประชาชน นี่คือตัวชี้วัด เพราะชาวประมงหลายคนคิดว่าออกเรือแล้วไม่คุ้มจึงเลิกอาชีพนี้ไป แต่เราสร้างอาชีพให้ชาวบ้านกลับมาทำประมงอีกครั้ง
ผศ. ดร.นิลนาจ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จับต้องได้ คือการฟื้นฟูปะการังลงสู่ทะเล เมื่อมีความสมบูรณ์ พวกสัตว์ทะเลจะกลับมา จะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมง อย่างไรก็ตาม เกาะสีชังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนเข้าได้ ตรงไหนเข้าไม่ได้ และตอนนี้เรากำลังเพาะพันธุ์หอยหวานแท้ที่สามารถขายได้กว่ากิโลกรัมละ 1,000 บาท ซึ่งในระยะที่ผ่านมาเราได้ปล่อยลงทะเลไปแล้ว 4,000 - 5,000 ตัว และในอนาคตจะทำให้ชุมชนมีรายได้
ผศ. ดร.นิลนาจ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จับต้องได้ คือการฟื้นฟูปะการังลงสู่ทะเล เมื่อมีความสมบูรณ์ พวกสัตว์ทะเลจะกลับมา จะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมง อย่างไรก็ตาม เกาะสีชังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนเข้าได้ ตรงไหนเข้าไม่ได้ และตอนนี้เรากำลังเพาะพันธุ์หอยหวานแท้ที่สามารถขายได้กว่ากิโลกรัมละ 1,000 บาท ซึ่งในระยะที่ผ่านมาเราได้ปล่อยลงทะเลไปแล้ว 4,000 - 5,000 ตัว และในอนาคตจะทำให้ชุมชนมีรายได้
นายอุดม อาวาสพรม หัวหน้าฝ่ายการผลิตและพัฒนาพืชสมุนไพรอบแห้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า งานวิจัยมีคุณค่าสำหรับวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชน โดยประชาชนในพื้นที่สะโง๊ะปลูกเก๊กฮวยและคาโมมายล์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้มาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันเรามีเตาอบเก๊กฮวยที่ช่วยเสริมการผลิตและมีเกษตรกรให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สวก. และทีมวิจัยได้สร้างโรงเรือน อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ จนเป็นมาตรฐานและสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพเทียบเท่าโรงงาน ตลาดหลักในการกระจายผลผลิตของเรา ได้แก่ ดอยคำ มูลนิธิโครงการหลวง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือการนำผลงานวิจัยเข้ามาสู่พื้นที่และเกิดประโยชน์กับชุมชน ซึ่งสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นนับ 10 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 6 แสนบาทต่อปี
นายจิรัฐ มานะอนุกุล ผู้ใหญ่บ้านดอยสะโง๊ะ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน มูลนิธิโครงการหลวง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชพันธุ์เมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้โดยไม่ต้องปลูกยาเสพติดในพื้นที่ โดยนักวิชาการเกษตรจากโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้แนะนำให้ชาวบ้านปลูกดอกเก๊กฮวยและคาโมมายล์เป็นพืชเศรษฐกิจ พร้อมจัดสรรงบประมาณในการสร้างเตาอบ เพื่อรองรับการอบผลผลิตที่มีปริมาณมากขึ้น ทำพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปกับดอกเก๊กฮวยและต้นคาโมมายล์ ช่วยเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน อีกทั้งทำให้เด็ก ๆ ได้มีการศึกษาในระยะยาวเพื่อกลับมาพัฒนาหมู่บ้านต่อไป
ขณะที่ รศ. ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร หัวหน้าโครงการการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชนผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ : การขยายพื้นที่ดําเนินงานเพิ่มจำนวน 20 พื้นที่ กล่าวว่า เราเริ่มต้นโครงการกระตุ้นภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และศิลปินในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ร่วมกับ บพท. ด้วยการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ ผ่านการซึมซับวัฒนธรรมในพื้นที่ ก่อนเลือกพื้นที่จัดงานวัฒนธรรม และเก็บข้อมูลของชาวบ้านที่มาออกร้านภายในงานว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างไรเพื่อนำมาวิเคราะห์ นี่คือการบูรณาการทุกกลไกและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อทุนวัฒนธรรม ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน พร้อมทั้งขอบคุณ บพท. ที่ให้ทุนวัฒนธรรมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เกิดเศรษฐกิจจุลภาค สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความหลากหลายทางธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนย่านวัฒนธรรม เกิดการฟื้นฟูผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
ด้านนายมรินทร์ ตันติชํานาญกุล ผู้แทนจากประชาสังคมในพื้นที่ กล่าวว่า เขตอำเภอทุ่งสง เป็นเมืองชุมทาง ในปี 2560 เศรษฐกิจตกต่ำ แต่โชคดีมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และทีมงานของอาจารย์สุพรรณี ได้มาคลุกคลีทำวิจัยเสร็จปี 2561 และส่งต่อให้ประชาคม เทศบาลก็ให้ความร่วมมือในการก่อตั้งภาคประชาคมขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อน ในฐานะตัวแทนของประชาคม มีความร่วมมือที่หลากหลาย ทั้งจากประชาคม อาจารย์ นักวิจัยในพื้นที่และศิลปินมาร่วมกันกำหนดกรอบงานวิจัยซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือให้เราได้นำมาดำเนินการ ทำให้ได้รู้ถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของทุ่งสง ซึ่งวัฒนธรรมคือทุนของชาติ สามารถจับต้องและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เราจึงเปิดพื้นที่ให้นำวัฒนธรรมต่าง ๆ มาจัดแสดง เช่น คีตะมวยไทย รำมโนราห์ รวมถึงอาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งหาไม่ได้และไม่มีที่ไหนเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกคน ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการออกร้าน จึงอยากให้ทุกคนมาตลาดทุ่งสง ตลาดที่แตกต่างจากตลาดเปิดท้ายทั่ว ๆ ไปเพราะที่นี่คนในพื้นที่เท่านั้นที่เป็นเจ้าของ จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่างานวิจัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เกิดการกระจายความเจริญ กระจายรายได้สู่พื้นที่ ลดความแออัดในสังคมเมือง แก้ไขปัญหามลพิษ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น