วธ. เปิดเว็บไซต์ “Thai Fabric Wisdom” คลังข้อมูลผ้าไทยทั่วประเทศ พร้อมเปิดอบรมบุคลากรเรียนรู้และเข้าใจการใช้งานระบบสารสนเทศภูมิปัญญาผ้าไทย เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรศฐกิจ กระตุ้นอุตสาหกรรมผ้าไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับนานาชาติ
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) เป็นประธานพิธีเปิดการฝึกอบรมการใช้งานระบบสารสนเทศภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีนางโชติกา อัครกิจโสภากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางพรพิณี บุญบันดาล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการผู้เข้าร่วมอบรมทั้งจากส่วนกลาง และภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ C-asean Cyber World Tower ชั้น 12 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ
ปลัดวธ. กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายสืบสาน รักษา และต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทกระทรวงสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม รวมทั้งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และให้บริการทางวัฒนธรรมสู่ชุมชนและประเทศ ประกอบกับภาครัฐให้ความสำคัญในการทำ Big Data วธ.จึงนำเรื่องผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาของไทยที่มีศักยภาพ และมีข้อมูลจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงในปีนี้ วธ. ได้ดำเนินการจัดทำผ้าไทยลายอัตลักษณ์ครบ 76 จังหวัด ครั้งแรกของประเทศไทย วธ.จึงได้จัดการฝึกอบรมการใช้งานระบบสารสนเทศภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้บุคคลากรในหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านผ้าไทย ได้เรียนรู้และเข้าใจร่วมกันในโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิปัญญาผ้าไทย แพลตฟอร์มที่เข้ากับโลกยุคใหม่ เพื่อเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ พัฒนาเป็นฐานข้อมูลที่เป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ที่สุดในเรื่องผ้าไทยของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมผ้าไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
นางยุพา กล่าวอีกว่า ประชาชนและชุมชนมีโอกาสเข้าถึงเศรษฐกิจสังคมโลกยุคใหม่ผ่านเว็บไซต์ www.thaifabricwisdom.com โดยภายในระบบมีข้อมูลด้านวิชาการ งานวิจัย และคลังความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการ ได้ศึกษาและนำไปพัฒนาต่อยอด นอกจากนี้ยังมีข้อมูลและสาระประโยชน์ อาทิ พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทย , มาตรฐานผ้าไทย-ตรานกยูงพระราชทาน , ชุดไทยพระราชนิยม/เสื้อพระราชทาน , วิวัฒนาการผ้าไทย , ประเภทของผ้าไทย , การเลือกใช้เลือกใส่ผ้าไทย , การดูแลรักษา , นวัตกรรมผ้าไหมไทยในปัจจุบัน , ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละจังหวัด , ผ้าไทยในเวทีโลก หรือ ผ้าไทยสู่สากล , ข้อมูล CPOT ผ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัด ข้อมูลผู้ประกอบการ ,พิพิธภัณฑ์ผ้าไทยในประเทศไทย และวีดิทัศน์องค์ความรู้/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
ปลัดวธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการขับเคลื่อนด้านผ้าไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศจากโครงการนี้แล้ว ในหมวดถัดไปจะเป็นเรื่องของอาหารไทย และด้านอื่นๆในหมวด 5F ประกอบด้วย 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival) รวมถึงมุ่งหวังให้วธ.เป็นหน่วยงานที่ทำในเรื่องขององค์ความรู้ เป็นศูนย์กลางให้ทุกหน่วยงานสามารถค้นคว้าข้อมูลในฐานข้อมูลหลักที่มีศักยภาพของกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น