รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดตัวคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง(Advance hearing and balance clinic)
วันนี้ (7 ตุลาคม 2565) รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย Prof. Doris Bamiou จากโรงพยาบาลหูคอจมูกแห่งชาติอังกฤษ Royal National Throat Nose Ear Hospital, ศูนย์หูแห่งมหาวิทยาลัยแห่งกรุงลอนดอน UCL Ear Institute, Ms.Helga Stellmacher, Country Director ของ British Council บริติชเคาซิลประเทศไทย, ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม และ อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก ประจำคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง (Advance hearing and balance clinic) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว คลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง (Advance hearing and balance clinic) นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาภาคประชาชนในหัวข้อ “ปัญหาการได้ยิน-ภัยเงียบที่กำลังคร่าสมองคุณ เตรียมความพร้อมประเทศไทยสำหรับสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาการได้ยินความเสี่ยงสูงสุดที่ป้องกันได้ของภาวะสมองเสื่อม” โดยมี Prof. Doris Eva Bamiou จาก University College ประเทศอังกฤษ และ รศ.นพ.เพิ่มทรัพย์ อิสีประดิฐ หัวหน้าภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการเสวนา เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ศูนย์การได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว Hearing Speech and Balance Centre ชั้น 8 อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในระดับตติยภูมิที่รับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะการให้บริการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินและทรงตัว ซึ่งนับเป็นปัญหาที่พบบ่อยและมีความซับซ้อนของโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย อาศัยความรู้ความสามารถของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้บริการการรักษาการได้ยินและทรงตัวขั้นสูงในระดับสมอง พร้อมทั้งตรวจประเมินและแปลผลการได้ยินรวมทั้งการทรงตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้จัดตั้ง “คลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง” (Advance hearing and balance clinic) ภายใต้ศูนย์การได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว Hearing Speech and Balance Centre ซึ่งนับเป็น “แห่งแรก” ในประเทศไทยและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยคลินิกและศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 8 อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยนอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ มีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยเพื่อการได้ยินและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (The Johns Hopkins Cochlear Center for Hearing and Public Health) โรงเรียนแพทย์ด้านหูอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยได้ร่วมมือในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย ที่ได้จัดทำโครงการอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านการได้ยินในผู้สูงอายุ โดยใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการจัดอบรม นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ University College London Ear Institute และ Royal National Throat Nose Ear Hospital สหราชอาณาจักร ในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ และทุนวิจัยร่วมมือพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุด้านการได้ยินและทรงตัวจากประเทศอังกฤษ และยุโรปอีกด้วย ทางด้าน อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร เผยว่า ปัญหาการได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว หรือปัญหาหูตึงเป็น 1 ใน 3 ปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน เช่น ทำให้ไม่กล้าพบปะผู้คน ไม่กล้าสื่อสารกับผู้อื่น ไม่สามารถขับรถหรือเดินทางได้ เป็นต้น ผลกระทบเหล่านี้เหมือนจะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้นที่จะพบปัญหาการได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว แต่ในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ส่งผลให้เด็กมีภาวะเดินได้ช้า ไม่สามารถทรงตัวได้ และในกลุ่มวัยกลางคนอายุระหว่าง 30-40 ปี ก็สามารถพบปัญหาการได้ยินและการทรงตัวได้เช่นกัน“หลายคนมักมองข้ามปัญหาทางการได้ยินทำให้เข้ารับการรักษาช้ากว่าที่ควร ก่อให้เกิดการลุกลามของอาการได้ เช่น ภาวะแยกตัวจากสังคม ภาวะซึมเศร้า เกิดอาการเวียนหัวเมื่อต้องเดินหรือเคลื่อนที่ อาจจะเกิดการหกล้มจนกระดูกหักหรือสมองกระทบกระเทือนตามมาได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหูตึงถือเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่จะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม แต่เราสามารถป้องกันรักษาได้ ฉะนั้นการตรวจพบปัญหาการได้ยิน และการกระตุ้นสมองให้แปลผลการได้ยินได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจึงสำคัญมาก ทั้งนี้หากผู้มีปัญหาได้เข้ารับการรักษาเร็ว คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็จะดีขึ้นตามมา” อ.ดร.พญ.นัตวรรณ กล่าวนอกจากนี้ ทางฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำองค์ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับเรื่องการได้ยินมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้แบบ Lifelong Learning ด้วย Online Platform MDCU Med U More เช่น การรักษาและป้องกันปัญหาการได้ยินในเด็ก, ปัญหาการได้ยิน หูตึง และ Public Involvement and Engagement (PIE) for older adults เพื่อศึกษาเรื่องการออกแบบโครงการของนักวิจัยและแพทย์ ผ่านความร่วมมือกับประเทศอังกฤษภายใต้โครงการ Research Environment Link fund ของ British Council& PMU-B ผู้ที่สนใจสามารถเข้าศึกษาได้ที่ https://www.medumore.org/สำหรับประชาชนที่มีปัญหาเรื่องของการได้ยิน สามารถเข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยติดต่อได้ที่อาคาร ภปร. ชั้น G โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในวันและเวลาราชการ หรือโทร. 02 256 4000 ต่อ 0
ไม่มีความคิดเห็น