สวพส. ร่วมกับ อปท. 44 แห่ง จัดทำแผนรณรงค์ป้องกันไฟป่าและแก้ปัญหาของหมอกควัน ด้วยองค์ความรู้จากโครงการหลวง สู่ชุมชนบนพื้นที่สูง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบนพื้นที่สูง 44 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และกาญจนบุรี ร่วมกันจัดทำแผนรณรงค์ป้องกันไฟป่าและแก้ปัญหาหมอกควัน ด้วยองค์ความรู้จากโครงการหลวง พร้อมกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร เพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศต้นน้ำและการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สวพส.มีการทำงานเชิงรุก โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบนพื้นที่สูง 44 แห่ง ร่วมกันจัดทำแผนรณรงค์ป้องกันไฟป่าและแก้ปัญหาหมอกควัน โดยส่งเสริมชุมชนมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งแยกพื้นที่ป่าและที่ทำกิน ป้องกันการบุกรุกป่า 440 ชุมชน อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร 1,104,038 ไร่ โดยการจัดทำแนวกันไฟ ลาดตระเวนป้องกันไฟป่า จัดทำฝายชะลอน้ำ 79 แห่ง ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศต้นน้ำและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้อย่างพอเพียง มีอัตราการเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่น้อยกว่าพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา ส่งผลให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
ด้วยการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ในชุมชนบนพื้นที่สูง มีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรมูลค่าสูง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบง่ายๆ จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ 50 ไร่ สร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท ขณะที่ปลูกพืชผักในโรงเรือนตามองค์ความรู้จากโครงการหลวงบนพื้นที่ 0.5 ไร่ เกษตรกรสร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท เช่นเดียวกัน แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า และยังเป็นผลให้จุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่สูงลดลงอีกด้วย จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2565 มีจุดความร้อนน้อยกว่าปี 2564 ถึง 1,236 จุด
อีก 1 ตัวอย่างของการจัดทำแนวกันไฟและชิงเผา ระหว่างเขตติดต่อของกลุ่มบ้าน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย มีกระบวนการมีส่วนร่วม ของทั้ง 3 หมู่บ้าน ทั้งการจัดประชุม ชี้แจง วางแผนร่วมกัน โดยใช้แผนที่ดินรายแปลง เป็นเครื่องมือกำหนดจัด Zone แบ่งเขตดูแลในการชิงเผา และเตรียมกำลังคน อุปกรณ์ทำแนวกันไฟ (ไม้ตบไฟ เครื่องเป่า วิทยุสื่อสาร) และชิงเผาในเวลาที่กำหนด รวมทั้ง ติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามเข้าเขตป่าชุมชน มีการจัดเวรยาม ลาดตระเวน อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีการลักลอบเผาอีก
ความสำเร็จของการดำเนินงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีส่วนให้ชุมชนเข้มแข็ง ง่ายต่อการส่งเสริมด้านอาชีพเกษตรกรรมช่วยลดการเผาและสร้างรายได้ (ไม้ผล ไม้ยืนต้น ผัก) มีการตั้งกติกา สร้างกฎระเบียบ ร่วมกับหน่วยงาน (อบต. หน่วยป้องกันฯป่าไม้) เพื่อป้องกันไฟป่าและหมอกควัน PM2.5 มีการปฏิบัติตามมาตรการของอำเภอ/จังหวัด พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และดูแลป่าต้นน้ำ ชุมชนอนุรักษ์ ปลูกป่า ป้องกันไฟป่า พื้นที่ป่าชุมชน ในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ
ไม่มีความคิดเห็น