วธ. จับมือเครือข่ายวัฒนธรรม-ผู้นำชุมชน-หน่วยงานวัฒนธรรมทั่วประเทศ เรียนรู้เทคนิค บริหารชุมชน ผลักทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เริ่มอบรมนำร่อง 2 รุ่น ณ จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเดือนมีนาคมนี้
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายทางวัฒนธรรมและผู้นำชุมชนคุณธรรมฯ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา แก่แกนนำเครือข่ายทางวัฒนธรรมและผู้นำชุมชนคุณธรรมฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่รับผิดชอบงานเที่ยวชุมชนยลวิถี ให้ดำเนินการยกระดับชุมชนคุณธรรมฯ เป็นชุมชนคุณธรรมฯ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” เกิดการเรียนรู้เทคนิค วิธีการบริหารจัดการชุมชน การนำ “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่มีอยู่ในพื้นที่ มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน โดยกิจกรรม ประกอบด้วย การบรรยายถ่ายทอดความรู้ จาก Local Alike ทีมวิทยากรมืออาชีพ และวิทยากรผู้นำตลาดน้ำ เรียนรู้เทคนิคค้นหาและคัดเลือกทุนทางวัฒนธรรม วิธีการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม 5F รวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 3 วัน ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี โดยกำหนดจัดโครงการดังกล่าว เป็น 2 รุ่น ประกอบด้วย รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 - 12 มีนาคม 2566 มีผู้เข้าร่วม 36 จังหวัด ๆ ละ 4 คน รวม 144 คน และ รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 - 19 มีนาคม 2566 มีผู้เข้าร่วม จำนวน 40 จังหวัด ๆ ละ 4 คน รวม 160 คน
ปลัด วธ. กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และ Soft Power ของไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน/ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับ วธ. ปรับบทบาทจากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ สไตล์ New Normal
ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน ภายใต้การดำเนินงาน “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” และเห็นถึงความสำคัญให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้นำชุมชน เครือข่าย ตลอดจนนักวิชาการของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ให้เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนที่ถูกต้อง มีแนวทาง เทคนิค และวิธีการ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การอบรมในครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายความคิด และจุดไฟในการทำงานให้แก่ทุกๆ ท่าน ขอให้นำความรู้ แนวคิด ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับ นำไปปรับใช้กับการทำงานในชุมชนของท่าน พร้อมทั้งขอให้ขยายแนวคิด ต่อยอดความรู้ไปสู่เพื่อนสมาชิก และแกนนำ ในชุมชนของท่านหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง มีความพร้อมที่จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ ความเสี่ยง หรือภัยคุกคามใดๆ โดยคนในชุมชน มีภูมิคุ้มกัน สามารถเรียนรู้ ปรับตัว และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน” นางยุพา กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น