ครม. รับทราบผลรายงานการ “เปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม” ภายใต้แนวคิดไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม ของ กมธ. การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เน้นภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพหลัก-เพิ่มแรงจูงใจทางภาษีดึงเอกชน- มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลสารสนเทศ ทำวิจัย ต่อยอด พัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม ของ กมธ. การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะจากรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวของ กมธ. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลในภาพรวม เพื่อนำเสนอ ครม.
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้ว เห็นด้วยกับภาพรวมของรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ของ กมธ. และมีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็น 1) รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม 2) แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์ 3) ผลกระทบจากการนำทุนวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมมาใช้ประโยชน์ผ่านการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม 4) ผลการทบทวน วิเคราะห์ กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม
สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขและเพิ่มเติมร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นสรุปประเด็น ดังนี้ 1) ภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพหลักในการเพิ่มความเข้มแข็งของกลไกไตรภาคีศิลปวัฒนธรรมระดับพื้นที่ 2) กรมสรรพากร ควรเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม และสนับสนุนงบประมาณให้กับการขับเคลื่อนไตรภาคีศิลปวัฒนธรรมระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น 3) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรกำหนดแนวทาง การบริการชุมชนให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลสารสนเทศ ทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอด พัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์ตลอดจนส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวัฒนธรรม ผู้ประกอบการวัฒนธรรม หรือการบริการทางวัฒนธรรมผ่านหน่วยงาน 4) ควรมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล อบต.) ร่วมดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมของประชาชนท้องถิ่นและเมือง รวมทั้งในพื้นที่โบราณสถานได้โดยสะดวก
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) การส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนาของทุกศาสนา 2) การขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2565) 3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และเปิดพื้นที่กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม 4) การสร้างสรรค์อัตลักษณ์วัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5) การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการอนาคต เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) 6) การจัดทำแผนระดับที่ 3 เพื่อสนับสนุนรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม 7) การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนมรดกทางวัฒนธรรม ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 8) การขับเคลื่อนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570
ไม่มีความคิดเห็น