วธ. เตรียมเปิด “พิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night at the Museum)” เต็มรูปแบบ ในงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ 21 – 25 เมษายน 2566 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่ยอดชมแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรม ทะลุกว่า 4 ล้านคน ตลอดปี 65
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เป็นประธาน ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้รายงานสถิติผู้เข้าใช้ เข้าชมแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรม ที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นและมีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 62.58 โดยปี 2565 แบ่งประเภทแหล่งที่มีผู้เข้าชม ดังนี้ 1. อุทยานประวัติศาสตร์ จำนวน 2,256,281 คน 2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำนวน 828,946 คน 3. แหล่งโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ จำนวน 1,067,535 คน ทั้งนี้ กรมศิลปากร (ศก.) มีแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ คือ อุทยานประวัติศาสตร์ จำนวน 10 แห่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำนวน 43 แห่ง และยังมีแหล่งโบราณสถานแหล่งโบราณคดีที่สำคัญกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น โบราณสถานพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี โบราณสถานพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก แหล่งโบราณสถานเวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งโบราณคดีโนนเมือง จังหวัดขอนแก่น โบราณสถานปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โบราณสถานถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลา โบราณสถานเขาพระนารายณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น นอกจากนี้ มีการผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศมีรูปแบบที่เหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มุ่งผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตามบทบาทกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ขยายการท่องเที่ยวทั่วประเทศมากขึ้น
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา วธ. โดย ศก. ได้มีการจัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night at the Museum) มาหลายครั้ง พบว่าผู้ชมมีความสนใจเป็นจำนวนมาก และมีผลตอบรับที่ดีทุกครั้ง อีกทั้ง เร็วๆนี้ วธ. จะจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงเดือนเมษายน 2566 จึงมุ่งจัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เวลา 16.00 - 20.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม เพื่อให้เข้าชมความงดงามของโบราณสถานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และส่วนจัดแสดงนิทรรศการในพระที่นั่งต่างๆ พร้อมบริการอาหารค่ำ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่น่าสวยงามของกรมศิลปากร โดยคำนึงถึงด้านความปลอดภัย ด้วยการประดับไฟตกแต่งอย่างสวยงามอีกด้วย
รมว.วธ. กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ได้เที่ยว ชม ชิม ช้อป อาทิ ชมพิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ ประดิษฐานภาพพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชสักการะ 10 รัชกาล การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การสาธิตอาหารไทยโบราณ ในรูปแบบตลาดย้อนยุค การจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์ CPOT / ของดี 50 เขต กทม. และจุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ นอกจากนี้ พบกับการฉายหนังกลางแปลง ณ สวนสันติชัยปราการ , การประกวดภาพถ่าย ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน , การเสวนาทางวิชาการ และจัดนิทรรศการที่สอดคล้องกับการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ณ มิวเซียมสยาม , เดินเที่ยวงานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพร ย้อนวันวาน สารพันอาหาร ย่านกะดีจีน - คลองสาน ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร , เที่ยวชมพิพิธบางลำพู โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน (ไกด์เด็กบางลำพู) ณ พิพิธบางลำพู และกิจกรรมอื่น ๆ อีก 20 แห่ง อาทิ จัดรถขสมก.และรถรางนำชม บริการรับ - ส่ง ให้ประชาชนทำบุญไหว้พระ และเข้าชมแหล่งเรียนรู้ทั่วเกาะกรุงรัตนโกสินทร์
ไม่มีความคิดเห็น