วธ. ร่วมเปิดงานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ชู Soft Power โนราระดับโลก ร่วมครู-ศิลปินโนรา รำบวงสรวงถวายพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วและ 4 ครูต้นโนรา 160 คน ชวนร่วมกิจกรรม 17 - 19 มี.ค. 66 ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว
วันที่ 17 มีนาคม 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และรศ.ดร.วิลาสีนี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดงาน โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน โดยมีนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ศิลปินโนรา คณะโนรา เครือข่ายสายตระกูลโนรา แขกผู้มีเกียรติ และนักท่องเที่ยวเข้าร่วม ณ ลานหน้าอนุสาวรีย์ 4 ครูต้นโนรา วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ในโอกาสนี้ ปลัดวธ. และผอ. ส.ส.ท ร่วมกันยกพานราดแก่ราชครูโนรา จุดเทียนชัย ถวายตาหลวง ถวายตายายครูหมอโนรา ชมการแสดง “ออกพราน นางทาสี” ชมการ รำบวงสรวงถวายพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว และ 4 ครูต้นโนรา ได้แก่ พญาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี และขุนศรีศรัทธา จากคณะโนรา 160 คน ตัวแทนน้องๆ ที่เรียนโนราทั่วภาคใต้ จาก 10 สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ, โรงเรียนสตรีพัทลุง, วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง, โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งกำกับโดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา)
นางยุพา กล่าวว่า โนรามีคุณค่าและความสำคัญในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางด้านศิลปะการแสดงที่มีพัฒนาการสืบทอดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 - 19 เป็นทั้งพิธีกรรม และศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิง เชื่อมโยงจารีตทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะการแสดงที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นภาคใต้ เป็น “มหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลัง และมีชีวิตชีวา” เป็น “นาฏยลักษณ์ของคนใต้” ทำให้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อปี 2564 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งนี้ วธ. โดย สวธ. มีการส่งเสริมสนับสนุนต่อยอด อาทิ ยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินโนราในฐานะศิลปินแห่งชาติ ถ่ายทอดการแสดงพื้นบ้านโนราให้แก่เยาวชน สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัย จัดให้มีเวทีการแสดงโนราในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ จัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณค่าความสำคัญของโนรา ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ประชาชนชาวไทยได้ภาคภูมิใจและตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของโนรามาอย่างต่อเนื่อง
และนับเป็นโอกาสอันดีที่ทาง “ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส” เห็นความสำคัญในศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ของไทยอย่างโนรา และมุ่งสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของโนรา สร้างการมีส่วนร่วมของศิลปิน ชุมชนโนรา และสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมการสืบทอดโนรา วธ. โดย สวธ. จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 17 - 18 มีนาคม 2566 ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
เพื่อเป็นการต่อยอดหลังจากยูเนสโกประกาศให้ “โนรา” ศิลปะท้องถิ่นใต้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจต่อเรื่องราวของโนราในเนื้อหาและมุมมองที่หลากหลายและลงรายละเอียดในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า กิจกรรมของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย การแสดงโนราบันเทิงและโนราร่วมสมัย โรงครูสาธิต 3 วัน 2 คืน ซึ่งเป็นพิธีกรรมโนราโรงครู (ใหญ่) ในรูปแบบโรงครูสาธิตประกอบการบรรยายให้ความรู้ โนราประชันโรง จัดเวทีเสวนา อาทิ เสวนา “เคลื่อนชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม Soft Power โนรา” เสวนา “ถอดรหัสโรงครู” , “ธรรมะ พระ และโนรา” และเสนวนา “สำรวจสถานะผู้หญิงในโลกโนรา” , “แลโนราผ่านสายตาคนรุ่นใหม่” มีบูธนิทรรศการ “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” เรียนรู้องค์ความรู้โนรา ตลอดจนพื้นที่จัดแสดงภูมิปัญญา และศิลปหัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรา อาทิ บูธ workshop แกะสลักหน้าพราน สาธิตซ่อมเครื่องดนตรีโนรา บูธโรงหมอยา หมอบีบนวด บูธสาธิตเรียนรู้พื้นฐานโนรา ท่ารำ และเครื่องแต่งกายโนรา บูธวัตถุมงคล และเครื่องรางเกี่ยวเนื่องกับโนรา และบูธ 15 ปีไทยพีบีเอส และศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น