ททท. เปิดเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ชวนสัมผัสเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ สงกรานต์ 5 ภาค คาดรายได้สะพัด 1.8 หมื่นล้านบาท
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งใน Soft Power (5F) คือ F-Festival ที่แข็งแกร่ง และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และอยู่ระหว่างพิจารณาให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ Intangible Cultural Heritage ชิ้นที่ 4 ของไทย ต่อจาก โขน นวดไทย และโนรา โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566 ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมายแก่นักท่องเที่ยวในทุกการออกเดินทาง (Meaningful Travel) ททท. จึงผนึกกำลังต่อยอดประชาสัมพันธ์ประเพณีสงกรานต์ จัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100 ปี) กรุงเทพมหานคร โดยมุ่งนำเสนออัตลักษณ์แห่งวิถี รากเหง้า และคุณค่าความเป็นไทย ผ่านประเพณีสงกรานต์ของ 5 ภูมิภาค เพื่อส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในมุมมองที่แตกต่าง นำสู่การเดินทางท่องเที่ยวจริงในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และให้การท่องเที่ยวเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังได้ร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ไทยต่อไปด้วย
เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2566 ททท. จัดงานขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “Defining Your Thainess” มุ่งนำเสนออัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา นำเสนอการสาธิตประดิษฐ์ “ตุง” โดยใช้วิธี “การตานตุง” เพื่อนำไปปักบนเจดีย์ทรายและถวายเป็นพุทธบูชาในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ และชวนทำ “น้ำส้มป่อย” เพื่อใช้สำหรับพิธีรดน้ำดำหัว สามารถช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อของชาวเหนือ ภาคกลางชวนดับร้อนด้วยเมนูอาหารสุดชื่นใจ “ข้าวแช่” ที่มีต้นกำเนิดจากประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญ ในสมัยโบราณนิยมรับประทานข้าวแช่ในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ต่อมาที่ ภาคอีสาน พาเรียนรู้ “ประเพณีเสียเคราะห์” หรือสะเดาเคราะห์ พิธีกรรมจากความเชื่อระหว่างพุทธและพราหมณ์ ศรัทธาในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ภูตผี ปีศาจ เทวดา ว่าจะช่วยปัดเป่าคลายความกังวล โรคภัยไข้เจ็บ ให้กลับมาแข็งแรง พ้นเคราะห์พ้นโศกได้ ภาคตะวันออก นำเสนอประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายข้าวเปลือก ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ประเพณีของชาวไผ่ดำ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา สำหรับการก่อเจดีย์ทรายข้าวเปลือกเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และ ภาคใต้ นำเสนอพีธีแห่นางดาน หนึ่งในอัตลักษณ์สงกรานต์ภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ประเพณีไทย อาทิ กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อขอพรเสริมสิริมงคลในช่วงปีใหม่ไทย ชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมจาก 5 ภูมิภาค กิจกรรม DIY และอิ่มอร่อยไปกับอาหารจากชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น และพิเศษสุด สำหรับผู้เข้าร่วมงานที่สะสมตราประทับจากกิจกรรมครบ 5 ภูมิภาค สามารถแลกรับของที่ระลึกสุดพิเศษจาก ททท.
ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะคึกคักมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เกิดรายได้รวมประมาณ 18,530 ล้านบาท สำหรับตลาดในประเทศ คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3,808,500 คน-ครั้ง และใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 13,500 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย 305,000 คน โดยฟื้นตัวประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 5,030 ล้านบาท จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ ภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยตลาดที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และ รัสเซีย รวมทั้งนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย และ สปป.ลาว ที่เดินทางข้ามแดนเข้ามาท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์คึกคัก ในพื้นที่จังหวัดชายแดน อาทิ งาน Hatyai Midnight Songkran อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และงาน Udon Songkran Festival จ.อุดรธานี
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2566” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟสบุ๊กแฟนเพจ Thailand Festival หรือ TAT Contact center โทร. 1672 Travel Buddy
ไม่มีความคิดเห็น