Breaking News

สายแรปฟังทางนี้ วธ. เปิดพื้นเวทีให้เด็ก –เยาวชน แต่งเพลงแรปประชัน “มนต์รักษ์ภาษาไทย” ปี 2 หนุนช่วยผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมอนุรักษ์และถ่ายทอดความงดงามของภาษาไทย ส่งผลงานได้ถึง 7 ก.ค.นี้


นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 หัวข้อ “มนต์รักษ์ภาษาไทย” ในรูปแบบคลิปวิดีโอเพลงแรป ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ เนื่องจากได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กและเยาวชนได้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และถ่ายทอดความงดงามของภาษาไทยซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติผ่านสื่อสร้างสรรค์ 


ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวนเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี ส่งผลงานในนามบุคคล หรือทีม และหากเป็นทีม ๆ ละไม่เกิน 3 คน โดยส่งผลงานได้จำนวน 1 ผลงาน ต่อ 1 ท่าน หรือ 1 ทีม เท่านั้น ซึ่งจะต้องจัดทำเนื้อร้อง แนวเพลงแรปที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ “มนต์รักษ์ภาษาไทย” สื่อให้เห็นถึงคุณค่า ความสำคัญของภาษาไทย รวมถึงการส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสานและถ่ายทอดภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ โดยสร้างทำนองและดนตรีตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จากนั้นถ่ายทำคลิปวิดีโอ (Music Video) ความยาวไม่น้อยกว่า 2 นาที และไม่เกิน 3 นาที สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดจะต้องไม่มีลักษณะลบหลู่ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่สร้างความแตกแยก รวมถึงต้องไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง และผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดจะต้องผลิตขึ้นใหม่ และไม่เคยเผยแพร่ ส่งประกวด หรือได้รับรางวัลใด ๆ มาก่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถส่งผลงานคลิปวิดีโอและใบสมัครการประกวดทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ culture.scm@gmail.com ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 เวลา 16.30 น. สอบถามข้อมูลและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และแฟนเพจเฟซบุ๊ก กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เว็บไซต์ https://surveillance.m-culture.go.th และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น