ครม. รับทราบการถวายพระราชสมัญญาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอการถวายพระราชสมัญญา “พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย” แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่องานจดหมายเหตุไทย ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย ทรงส่งเสริม สนับสนุน และพระราชทานพระราชดำรัสอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานจดหมายเหตุไทยมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ วธ โดยกรมศิลปากร เตรียมจัดพิธีถวายพระราชสมัญญา "พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย" อย่างเป็นทางการ ภายหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาโดยสมบูรณ์ รวมถึงกำลังเตรียมงานดังนี้ 1. จัดทำพระสุพรรณบัฎจารึกพระราชสมัญญา 2. หนังสือที่ระลึก จำนวน 2 เล่ม ประกอบด้วย หนังสือที่ระลึกเนื่องในการถวายพระราชสมัญญาฯ แสดงเนื้อหาแบ่งเป็น 4 ตอน ตอนที่ 1 ทรงสนพระราชหฤทัยในงานจดหมายเหตุ ตอนที่ 2 พระมหากรุณาธิคุณด้านจดหมายเหตุทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอนที่ 3 แรงบันดาลพระทัยในการเปิดหลักสูตรจดหมายเหตุ ระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ตอนที่ 4 การถวายพระราชสมัญญา และเล่มที่สองคือ หนังสือเรื่อง อาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี เป็นหนังสือที่คัดเรื่องราวจากเอกสารจดหมายเหตุที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย มาจัดทำเป็นเรื่องสั้นจำนวน 70 เรื่อง 3. การประกาศยกย่องเอกสารจดหมายเหตุที่บันทึกโดยชาวต่างประเทศ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย 4. กิจกรรมสร้างเครือข่ายงานจดหมายเหตุและรวบรวมเอกสารสำคัญมาจัดเก็บเป็นเอกสารจดหมายเหตุของชาติ
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการอันเป็นคุณประโยชน์ต่องานจดหมายเหตุไทย ด้วยเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านจดหมายเหตุทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงนำมาพระราชนิพนธ์เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและพัฒนาประเทศ ทรงนำความรู้และเทคนิคใหม่ที่ทอดพระเนตรมาถ่ายทอดให้หน่วยจดหมายเหตุที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทราบ เพื่อนำไปปรับและพัฒนา สนับสนุนการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศมาจัดเก็บไว้ในแหล่งเรียนรู้เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงนำความรู้ด้านประวัติศาสตร์แสดงให้นักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าให้มีพื้นฐานความเข้าใจต่อความสำคัญของเอกสารจดหมายเหตุในฐานะแหล่งข้อมูลชั้นต้นที่เป็นข้อเท็จจริงต่อการเป็นหลักฐานอ้างอิง ตลอดจนทรงมีพระราชกระแสถึงความจำเป็นของการศึกษาด้านจดหมายเหตุระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรด้านจดหมายเหตุในมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้มีพื้นฐานในการจัดการงานจดหมายเหตุประเทศไทยทัดเทียมนานาอารยประเทศและพร้อมที่ประยุกต์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่สูการพัฒนางานจดหมายเหตุที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคนในประทศได้มีประวัติศาสตร์ได้ศึกษาอย่างสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น