Breaking News

วธ.เดินหน้าเต็มที่พัฒนา CPOT ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ผู้ประกอบการ 40 ผลิตภัณฑ์ จาก 19 จังหวัดของชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ร่วมเรียนรู้พัฒนาต่อยอด นำทุนวัฒนธรรม สร้างสรรค์ CPOT ไทยไปทั่วโลก! เป็นสินค้า Soft Power สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ


นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ส่งเสริม Soft Power ความเป็นไทยหลากหลายสาขาให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยสู่อุตสาหกรรม และขยายตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง วธ. ได้จัดโครงการ “สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย” (Cultural Product of Thailand : CPOT) เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวข้างต้น  อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของถิ่น สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก ซึ่งผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดย วธ. มีการต่อยอดศึกษาช่องทางการตลาดช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะทางการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ผ่านออนไลน์เพิ่มเติม เพื่อเป็นการขยายตลาดและกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น จากการร่วมมือกับภาคเอกชน ร่วมพัฒนา CPOT สู่ช่องทาง Modern Trade ที่ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  สาขาราชดำริ และอีก 30 สาขาทั่วประเทศ มีกระแสตอบรับเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยคาดปีแรกจะสามารถสร้างรายได้ 100 ล้านบาท


นายอิทธิพล  กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการดำเนินการยกระดับ CPOT ของไทยอย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็วๆนี้ วธ. ได้จัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566” มีผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ 20 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของ วธ. จำนวน 40 ผลิตภัณฑ์ จาก 19 จังหวัด 




นักวิชาการวัฒนธรรมหรือเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมฟังบรรยาย เรียนรู้ ทำกิจกรรม workshop ตลอดจนลงพื้นที่ชุมชนคุณธรรมวัดเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และชุมชนคุณธรรมบ้านจอมปลวก อำเภอบางคนที เพื่อนำไปต่อยอด เกิดการยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ทั้งในด้านการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว เตรียมพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง 


ที่สำคัญถือเป็นการเรียนรู้การนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าทางวัฒนธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ การพัฒนาต่อยอดสินค้าทางวัฒนธรรม การยื่นคำขอจดลิขสิทธิ์ การขยายช่องทางการจำหน่ายและสร้างเครือข่ายทางการค้า เป็นต้น 





คาดว่า CPOT ทั้ง 40 ผลิตภัณฑ์จะได้รับการพัฒนาสินค้าอย่างมีคุณธรรม เป็นที่สนใจของผู้ซื้อและมีช่องทางที่จำหน่ายที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้สนใจอุดหนุนสินค้าจากชุมชน CPOT สามารถเลือกชมและช้อปได้ที่ www.cpotshop.com และ Facebook CPOT https://www.facebook.com/CulturalProductofThailand?mibextid=LQQJ4d  

ไม่มีความคิดเห็น