Nanmeebooks จับมือ B2S จัดเสวนา "สร้างภูมิคุ้มกันใจในวัยรุ่น"เจาะลึกปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม
วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ร่วมกับ B2S จัดงานเสวนาในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกันใจในวัยรุ่น” ที่ B2S สาขา Central World เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นในปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา วิธีป้องกัน รับมือ พร้อมแนะแนวทางในการดูแลจิตใจตนเองและคนใกล้ชิด
โดยได้รับเกียรติจาก
· ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต
· แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์
· คุณญา-ปราชญาศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้ง Mental Me และผู้เขียนหนังสือ Changemaker เสียงเล็กๆ ของเด็กเปลี่ยนโลก มาร่วมพูดคุย· โดยมีคุณมิ่งขวัญ เหล่าบุศณ์อนันต์ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกวัยรุ่นให้ถูกทาง by แม่มิ่ง เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่าเมื่อก่อนปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่มาปรึกษาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องพฤติกรรมของเด็ก เช่นความซนหรือปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก แต่ปัจจุบันพบว่าเรื่องที่ผู้ปกครองมาปรึกษามากเป็นอันดับ 2 คือ เรื่องโรคซึมเศร้า สถิติจากเด็กและวัยรุ่นที่เข้ามาทำแบบประเมินสุขภาพจิตที่ www.วัดใจ.com ประมาณ 200,000 คน พบว่ามีเด็กและวัยรุ่น เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 10% และในจำนวนนี้มีผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองมากกว่า 16%
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสื่อโซเชียลค่อนข้างมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของวัยรุ่นอย่างมาก เนื่องจากมักถูกใช้เป็นที่ระบายอารมณ์หรือแสดงความคิดเห็น ทำให้เด็กได้ซึมซับอารมณ์เหล่านั้นมา อีกทั้งความเข้าถึงง่ายและเชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนของสื่อโซเชียล ทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมถึงกันได้หมดไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่ก็ตาม ทำให้เด็กๆ เห็นชีวิตของผู้อื่นและเกิดการเปรียบเทียบจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา
คุณญา-ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้ง Mental Me และผู้เขียนหนังสือ Changemaker เสียงเล็ก ๆ ของเด็กเปลี่ยนโลก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กวัยรุ่นที่ประสบปัญหาต้องการคนรับฟัง แต่บางครั้งไม่มีใครรับฟัง เขาจึงหาวิธีระบายโดยโพสต์ลงสื่อโซเชียล แต่สื่อโซเชียลไม่ใช่เซฟโซนที่ใครจะโพสต์อะไรก็ได้ วิธีแก้ปัญหา คือ ครอบครัวควรเป็นผู้รับฟังอย่างเข้าใจ และต้อง ไม่ตัดสิน เพื่อให้เด็กไว้วางใจ ผ่อนคลาย และมีที่พึ่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้ง 3 ท่านยังได้แนะนำหนังสือที่กล่าวถึงปัญหา
สุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ไว้หลายเล่ม โดยแพทย์หญิงวิมลรัตน์ ได้ยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง “รับมือให้ไหวเมื่อใจลูกพัง” ว่าถ้าอ่านเล่มนี้จะเข้าใจความเปราะบางทางอารมณ์ของเด็กว่ามีอะไรบ้าง เกิดจากสาเหตุอะไร และจะสังเกตได้อย่างไรว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์โดยทั่วไปหรือเข้าข่ายต้องเฝ้าระวัง ทำให้เข้าใจกระบวนการเกิดโรค การดำเนินไปของโรค และต้องเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องไปพบจิตแพทย์ พร้อมแนะนำให้รู้จักปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ที่มักพบในเด็ก นอกจากนี้คุณหมอยังได้แนะนำหนังสือ “จัดการวิตกกังวลวัยรุ่น” ซึ่งกล่าวถึงปัญหาความวิตกกังวลในเด็กวัยรุ่นที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของวัยรุ่นในปัจจุบัน บางคนอาจยังไม่ถึงขั้นป่วยจนกระทบต่อชีวิตประจำวันก็ตาม โดยเล่มนี้จะมีเทคนิควิธีการจัดการกับความวิตกกังวลที่คัดสรรมาเพื่อดูแลจิตใจวัยรุ่นโดยเฉพาะ อธิบายเป็นขั้นตอน เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริง พร้อมยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
ทางด้าน ดร.นพ.วรตม์ได้ยกตัวอย่างหนังสือ “คู่มือเอาชนะสภาวะสติแตก” ที่กล่าวถึงโรควิตกกังวลหรือที่รู้จักกันในนามแพนิก ว่าเป็นโรคที่ยังถูกพูดถึงน้อยในสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากเป็นอันดับ 1 โดยในหนังสือเล่มนี้จะสอนเทคนิคการฝึกจิตที่สามารถเอาชนะความวิตกกังวลอย่างได้ผลชะงัดทั้งแบบชั่วคราวและถาวรโดยไม่ต้องพึ่งยา อีกเล่มที่ดร.นพ.วรตม์ แนะนำคือ “ซึมเศร้าใครว่าไม่อันตราย” รีบรักษาอย่าเพิกเฉย ชื่อเรื่องอาจดูน่ากลัว แต่เนื้อหากลับพูดถึงโรคซึมเศร้าแบบอบอุ่น ให้กำลังใจ ทำให้รู้จักและเข้าใจโรคซึมเศร้าในทุกแง่มุม พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน รักษา ดูแลตนเองและคนใกล้ตัวเพื่อให้ปลอดภัยและห่างไกลโรค โดย ดร.นพ. วรตม์ กล่าวเสริมว่าหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านได้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยแล้ว สงสัยว่ากำลังป่วย หรือมีคนใกล้ตัวป่วย
ด้านคุณญา ปราชญา ผู้เขียนหนังสือ “Changemaker เสียงเล็กๆ ของเด็กเปลี่ยนโลก” ซึ่งเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ผู้อ่านรู้ว่ายังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่ประสบปัญหาเดียวกัน ทำให้ได้พบเจอกับคนที่เข้าใจเรามากขึ้น และทำไมเด็กและวัยรุ่นจึงควรไปพบจิตแพทย์ได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง อีกเล่มที่ขาดไม่ได้คือ “คุณคางคกไปพบนักจิตบำบัด” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวมิตรภาพในหมู่เพื่อนที่พยายามช่วยคุณคางคกที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้า และสะท้อนปัญหาครอบครัวว่าแท้จริงแล้วปัญหาหลักที่ส่งผลให้เด็กและวัยรุ่นมีสุขภาพจิตไม่ดีนั้นอาจไม่ได้มาจากสังคมภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มมาจากปัญหาภายในครอบครัวเอง หนังสือเล่มนี้ได้ตอกย้ำให้เห็นว่าครอบครัวมีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจของเด็กและวัยรุ่นมากเพียงใด หากสังเกตเห็นว่าเด็กๆเริ่มมีภาวะผิดปกติทางอารมณ์ ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์ทันที
นอกจากนี้ทั้ง 3 ท่านยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าหากใครกำลังมีความวิตกกังวลหรือสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถสำรวจตนเองได้ง่ายๆ โดยการหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่นหนังสือของนานมีบุ๊คส์ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น
สำหรับผู้สนใจหนังสือสามารถหาซื้อได้ที่ ร้านแว่นแก้ว B2S และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Nanmeebooks Call Center 02-662-3000 กด 1 www.nanmeebooks.com
ไม่มีความคิดเห็น