Breaking News

ชูเชียงใหม่ ‘นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม’ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ประจำปี ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ประจำปี พ.ศ. 2568 (UCCN ANNUAL CONFERENCE 2025) นำเสนอศักยภาพเมืองสร้างสรรค์ของไทยอีกหลายสถานที่ คาดสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ 125.86 ล้านบาท


นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 ได้รายงานถึงผลการเสนอเมืองเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุม ประจำปี ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ประจำปี พ.ศ. 2568 (UCCN ANNUAL CONFERENCE 2025) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิ์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 17 ในปี พ.ศ. 2568 (UCCN Annual Conference 2025) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อองค์การยูเนสโก และได้มีการจัดงานแถลงข่าวการยื่นประมูลสิทธิ์ฯดังกล่าวภายใต้แนวคิด “Enhancing Multicultural Transformation” เชื่อมอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างนวัตกรรมเพื่อการต่อยอดไปนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้รับแจ้งจาก สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ว่า สำหรับเมืองที่จะได้รับการเสนอเป็นเจ้าภาพพร้อมกับของไทย ประกอบด้วย 6 เมือง คือ เมืองเคดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย , เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี , เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ , เกเรตาโร ประเทศเม็กซิโก , อิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน และเชียงใหม่ ประเทศไทย 




ซึ่งจะมีการคัดเลือกกันในที่ประชุมประจำปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 15 ในปี พ.ศ. 2566 วาระการเสนอเมืองเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี ครั้งที่ 17 ในปี พ.ศ. 2568 โดยองค์การยูเนสโกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ช่วงปลายปี 2566 นี้


นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมการดังกล่าวมีกระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และพร้อมผลักดันเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ร่วมกับภูเก็ต (สาขาอาหาร) กรุงเทพมหานคร (สาขาการออกแบบ) สุโขทัย (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) และเพชรบุรี (สาขาอาหาร) อีกทั้งเป็น ‘นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม’ พร้อมด้วยศักยภาพ มีความคาดหวังที่จะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเชื่อมโยงและแบ่งปันแรงบันดาลใจ (Sharing) อาทิ การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ และการสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนความสร้างสรรค์ที่ไม่มีสิ้นสุด นำไปสู่การสร้างความสุขด้วยแนวคิดเมืองมีชีวิต เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน




ทั้งนี้ นอกเหนือการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกของประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์ศักยภาพของประเทศไทยสู่เวทีโลก ยังมีการคาดการณ์ว่าหากเชียงใหม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้กว่า 125.86 ล้านบาท และเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้าถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันเกิดจากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงยังสอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องการเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมของไทย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์กับต่างประเทศผ่านมิติทางวัฒนธรรมอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น