Breaking News

วธ. ฉลองวันอาเซียน 66 ตำ“น้ำพริกกะปิ” เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารของอาเซียน ชวนผู้ประกอบการด้านอาหารรุ่นใหม่ เชฟ ผู้แทนจากสถานทูตอาเซียนในประเทศไทย นักวิชาการ ด้านอาหาร พ่อครัวแม่ครัวรุ่นใหม่ ร่วมพัฒนา ต่อยอด ความสำเร็จเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ยกระดับอาหารอาเซียนสู่นานาชาติ



เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมวันอาเซียน ประจำปี 2566 


โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ผู้แทนจากสมาชิกอาเซียน ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทย ผู้ประกอบการด้านอาหาร เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ชั้น 3 


รมว.วธ กล่าวว่า ด้วยวันที่ 8 สิงหาคม 2566 เป็นวันอาเซียน เพื่อเป็นการระลึกถึงการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ครบรอบ 56 ปี ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 และเนื่องในวาระการเปิดให้บริการศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนครบรอบ 8 ปี กระทรวงวัฒนธรรมจึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด และภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรม จัดกิจกรรมวันอาเซียน ประจำปี 2566 ซึ่งในปีนี้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการศาสตร์และศิลป์แห่งอาหารสู่การประกอบการทางธุรกิจของอาเซียน (Empowering MSMEs in ASEAN Gastronomic Business) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ของอาเซียน ซึ่งทำธุรกิจในสาขาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์และศิลป์ด้านอาหาร ในการนำทุนและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น มาพัฒนาและต่อยอดโดยใช้ฐานความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ขยายโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสู่เวทีนานาชาติ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 9 สิงหาคม 2566 ณ จังหวัดเพชรบุรีและกรุงเทพมหานคร 




นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ความพิเศษของกิจกรรมในปีนี้คือมีการเชิญผู้แทนกลุ่ม MSMEs ในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ อาทิ ผู้ประกอบการ/เจ้าของธุรกิจด้านอาหารรุ่นใหม่ พ่อครัวแม่ครัว (Chef) รุ่นใหม่ เจ้าของกิจการอาหารในท้องถิ่น และนักวิชาการด้านอาหาร ที่ประสบความสำเร็จ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาและการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ ด้านอาหาร ร่วมกันถอดบทเรียนความสำเร็จ แนวทางการพัฒนา และนำเสนอข้อเสนอแนะระหว่างกัน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การเปิดเวทีสัมมนา ร่วมกันถอดบทเรียนความสำเร็จของ เมืองภูเก็ต เมืองเพชรบุรี และเมืองคูซิง(มาเลเซีย) ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสาธิต การออกร้าน และมีการเชิญผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอาเซียนในประเทศไทยเข้าร่วม 




และในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีการนิทรรศการเมืองสรสร้างสรรคห์ด้านวิทยาการอาหารของอาเซียน และการร่วมทำเวิร์กชอป “น้ำพริกกะปิ” ร่วมเรียนรู้วัฒนธรรมการทานน้ำพริกหรือเครื่องจิ้ม รวมถึง “กะปิ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบร่วมของภูมิภาค สาธิตและนำการสอนโดย ดร.นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์อาหาร และวัฒนธรรม ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน กรุงเทพมหานคร 





รมว.วธ กล่าวปิดท้ายว่า โครงการศาสตร์และศิลป์แห่งอาหารสู่การประกอบการทางธุรกิจของอาเซียน มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model รวมทั้งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities) ภายใต้องค์การยูเนสโก ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ รวมถึงวิทยาการด้านอาหาร (Gastronomy) โดยปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนมีเมืองสร้างสรรค์ในสาขาวิทยาการอาหาร จำนวน 3 เมือง ได้แก่ เพชรบุรี (ไทย) ภูเก็ต (ไทย) และคูชิง (มาเลเซีย)

ไม่มีความคิดเห็น