Breaking News

หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศ 10 รายชื่อหนังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2566 มีภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา, หนังท่านมุ้ย “เทวดาเดินดิน”, หนัง LGBTQ “เพลงสุดท้าย” และ “หัวใจทรนง”, หนังร่วมทุนสร้างกับฮ่องกง “กตัญญูปกาสิต”, หนังชีวประวัติ “14 ตุลา สงครามประชน” , หนังซอฟท์พาวเวอร์ไทยยุคบุกเบิก “Thailand” และอื่น ๆ

 

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศ 10 รายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2566 ทั้งหนังเรื่อง และหนังสารคดี จากการคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ 33 ท่านที่คัดสรรมาโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) โดยภาพยนตร์ส่วนหนึ่งมาจากมาจากประชาชนกว่า 1,000 คนที่ร่วมเสนอรายชื่อ โดยพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์คุณค่า ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรม และศิลปะ 



ภาพยนตร์ 10 เรื่องในที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้ ครอบคลุมหลากหลายมิติทางสังคม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงรากฐานวัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหวอันแข็งแรงของผู้สร้างไทย 



เนื่องด้วยปี 2566 เป็นปีครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  มีภาพยนตร์สามเรื่องที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้ได้กรับการคัดเลือก ได้แก่ วันมหาวิปโยค (2516) เป็นบันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ นักข่าวภาพยนตร์อิสระได้ถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไว้  ส่วนหนัง [สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า] [2528] เป็นฟุตเทจหายากที่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้สัมภาษณ์อดีตนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวที่ออกจากป่าหลังจากไปเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่น จิระนันท์ พิตรปรีชา, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย, เหวง โตจิราการ, เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, คณะวงดนตรีคาราวาน และชาวบ้านคนอื่น ๆ ไกรศักดิ์ตั้งใจจะตัดต่อฟุตเทจเป็นสารคดีน แต่ทำไม่เสร็จสิ้น คงเหลือไว้แต่ฟุตเทจที่มีความกว่า 11 ชั่วโมง  เรื่องสุดท้ายได้แก่ 14 ตุลาสงครามประชาชน (2544) ภาพยนตร์ชีวประวัติ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  บุคคลสำคัญทางการเมืองในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย เป็นงานกำกับโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

เทวดาเดินดิน (2519) โดย ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นหนังที่จับภาพวัยรุ่นไทยในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างเข้มข้น เป็นทั้งหนังสะท้อนสังคมและหนังแอคชั่นผจญภัยไปพร้อม ๆ กัน  นอกจากนี้ ภาพยนตร์คลาสสิกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่สำคัญยังมี ปักธงไชย (2500) สร้างโดยบริษัท ละโว้ภาพยนตร์ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ถือเป็นผลงานที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของพระองค์ ผู้ทรงเป็นนักทำหนังที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทย และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เล่าถึงสงครามปราบฮ่อ สมัยรัชกาลที่ 5 กตัญญูปกาสิต (2501) หนังร่วมทุนไทยฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จทั้งที่ไทยและต่างแดนด้วยความสามารถของยอดฝีมือแห่งวงการหนังไทยยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทั้ง ครูเนรมิต ผู้กำกับ ส. อาสนจินดา ผู้เขียนบท และบรรดานักแสดงชั้นครู

ภาพยนตร์ LGBTQ สองรสชาติอันแตกต่าง และแสดงให้เห็นการเดินทางของหนังแห่งความหลากหลายทางเพศของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้ ได้แก่ เพลงสุดท้าย (2528) หมุดหมายสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์ไทย ที่ส่งอิทธิพลต่อเนื่องอย่างกว้างขวางยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน กำกับโดย พิศาล อัครเศรณี และอีกเรื่องได้แก่ หัวใจทรนง (2546) งานกำกับร่วมของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ไมเคิล เชาวนาศัย กับเรื่องราวของสายลับไออ้อน พุซซี่ งานที่คารวะสุนทรีศาสตร์ของหนังไทยุค 16 มม. พร้อมไปกับการสร้างอารมณ์ขันสำหรับผู้ชมร่วมสมัย

ภาพยนตร์สารคดีเก่าอีกสองเรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนได้แก่  โกนจุก [2510]  เป็นภาพบันทึกพิธีโกนจุก ซึ่งเป็นพิธีกรรมในวิถีชีวิตของสังคมไทยสมัยก่อน ได้อย่างละเอียดครบถ้วนตามประเพณีทั้งคติพราหมณ์และพุทธ สุดท้ายคือ Thailand (2501) ภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่รัฐบาลไทยจัดทำเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ผู้ชมในโลตะวันตก 

หอภาพยนตร์ ได้จัดกิจกรรมประกาศรายชื่อภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติมาเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2554 หลังประกาศรายชื่อภาพยนตร์ในปีนี้ 10 เรื่อง ทำให้ภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯ มีจำนวนทั้งหมด 243 เรื่อง ซึ่งหอภาพยนตร์เตรียมนำภาพยนตร์เหล่านี้ออกฉายตามช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในโรงภาพยนตร์ Facebook YouTube Tiktok ของหอภาพยนตร์ รวมถึงการจัดงานเสวนาถึงภาพยนตร์ และการให้บริการในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ของหอภาพยนตร์ ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.fapot.or.th หรือที่เฟซบุ๊กช่อง หอภาพยนตร์ Thai Film Archive 



รายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2566

1. ปักธงไชย (2500)

2. Thailand (2501)

3. กตัญญูปกาสิต (2501)

4. โกนจุก [2510]

5. วันมหาวิปโยค (2516)

6. เทวดาเดินดิน (2519)

7. [สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า] [2528]

8. เพลงสุดท้าย (2528)

9. 14 ตุลาสงครามประชาชน (2544)

10. หัวใจทรนง The Adventure of Iron Pussy (2546)

หมายเหตุ

ชื่อเรื่องใน [..] หมายถึง ภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่มีไตเติ้ลชื่อเรื่องปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เป็นชื่อหอภาพยนตร์ตั้งขึ้นเอง

ปีพ.ศ.ที่อยู่ใน […] หมายถึง ข้อมูลที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้นเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ 

1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ 

เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ สถานที่ กาลสมัย บุคคล เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและสังคมไทย ในมิติต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มหรือมวลชน สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจมิติเหล่านั้นในเชิงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ

2. คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์

เป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ อันแสดงถึงศิลปะวิทยาทางด้านภาพยนตร์

3. มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

เป็นภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การนำเสนอภาพยนตร์นั้นไม่ว่าการถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ ฯลฯ  มีความคิดริเริ่ม ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในภาพยนตร์อื่นๆ

4. บูรณภาพ 

คือความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายแล้วอาจถูกตัดทอน ถูกเสริมเติมแต่งเพิ่มเติม ถูกดัดแปลงไปด้วยเหตุต่าง ๆ

5. ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน

เป็นภาพยนตร์ที่ยังมีฟิล์มต้นฉบับหรือสำเนาในรูปแบบอื่นใดอยู่ แต่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะสูญเสียภาพยนตร์นั้นไป ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น มีต้นฉบับหรือสำเนาอยู่เพียงชุดเดียว หรือภาพยนตร์นั้นกำลังเสื่อมสภาพ หรือสภาพการจัดเก็บไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

6. อิทธิพลต่อคนและสังคม

ภาพยนตร์ที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อปัจเจกชนและหรือต่อสังคม ไม่ว่าทางด้านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ฯลฯ อาจก่อให้เกิดกระแสสมัยนิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ว่าชั่วระยะเวลาสั้นหรือยั่งยืนนาน

รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาตัดสินภาพยนตร์

1. กษิดิศ อนันทนาธร - บรรณาธิการ

2. กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน - นักวิจารณ์ภาพยนตร์

3. ผศ.ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ - นักวิชาการด้านปรัชญา

4. โกวิท โพธิสาร - สื่อมวลชน

5. ชญานิน เตียงพิทยากร - นักวิจารณ์ภาพยนตร์

6. ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ - นักจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศึกษา

7. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ - นักประวัติศาสตร์

8. ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ - นักประวัติศาสตร์

9. ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ - ผู้กำกับภาพยนตร์ 

10. ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี - ครีเอทีฟ 

11. นที กอนเทียน - ผู้ดูแลเพจ 77 PPP

12. นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ - บรรณาธิการ

13. นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ - นักวิชาการด้านศิลปะ

14. ผศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ - นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

15. ประวิทย์ แต่งอักษร - นักวิจารณ์ภาพยนตร์

16. ปราปต์ บุนปาน - บรรณาธิการ

17. พรพิชิต พัฒนถาบุตร - นักวิชาการอิสระ

18. ดร. พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ - นักวิชาการด้านภาพยนตร์

19. ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ - บรรณาธิการ

20. มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ - นักวิจารณ์ภาพยนตร์

21. หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย - สื่อสารมวลชน

22. ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ - นักประวัติศาสตร์

23. ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง - นักวิชาการด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมศึกษา

24. ศรัณย์ ทองปาน - นักเขียนสารคดี

25. ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา - นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แรงงาน

26. ศาสวัต บุญศรี - นักวิชาการด้านภาพยนตร์

27. ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ - นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา

28. สุภัตรา ภูมิประภาส - นักเขียน นักแปล

29. โสภิต หวังวิวัฒนา - นักจัดรายการวิทยุ

30. อธิคม คุณาวุฒิ - บรรณาธิการ

31. อธิป กลิ่นวิชิต - สื่อมวลชน

32. อัษฎาวุธ สาคริก - นักดนตรีและที่ปรึกษางานศิลปวัฒนธรรม

33. ผศ. อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ - ผู้กำกับภาพยนตร์


ไม่มีความคิดเห็น