“ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ ตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ”
วันที่ 13 ตุลาคม 2566 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ มอบหมายให้พลเรือเอก วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ / เสนาธิการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ และ พลเรือโท กำจร เจริญเกียรติ รองเสนาธิการทหารเรือ / รองเสนาธิการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ กรมอู่ทหารเรือ ในพื้นที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
โดยในเวลา 09.30 น.พลเรือเอก วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ / เสนาธิการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ ได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสา ทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัดบางบ่อ ร่วมกับกำลังพลจิตอาสา หน่วยบรรเทาสาธารณภัยโรงเรียนนายเรือ และประชาชนในพื้นที่ “เนื่องในวันนวมินทรมหาราช” จากนั้นเสนาธิการทหารเรือ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการปฏิบัติภารกิจเรือผลักดันน้ำบริเวณใต้สะพานบางบ่อ และใต้สะพานบริเวณโรงพยาบาลบางบ่อ จ.สมุทรปราการ ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ จ.นครนายก พลเรือโท กำจร เจริญเกียรติ รองเสนาธิการทหารเรือ / รองเสนาธิการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พร้อมคณะได้เดินไปตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ พื้นที่ จ.นครนายก โดยได้รับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติภารกิจเรือผลักดันน้ำบริเวณสะพานโยทะกา ต.บางสมบูรณ์ และบริเวณข้ามแม่น้ำนครนายก ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก
กองทัพเรือ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ ได้สนับสนุนเรือผลักดันน้ำ พร้อมกำลังพล อุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ ในพื้นที่ จ.นครนายก และ จ.สมุทรปราการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำที่ท่วมขังให้ไหลออกสู่ทะเลโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนัก และน้ำจากทางเหนือที่ไหลผ่านพื้นที่ดังกล่าว โดยในพื้นที่ จ.นครนายก ได้ติดตั้งเรือผลักดันน้ำไว้ 2 จุด จำนวนจุดละ 20 ลำ และพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ได้ติดตั้งไว้ 2 จุด จำนวนจุดละ 4 ลำ ซึ่งเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริสำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากตั้งแต่ปี 2538 โดยแนวความคิดนี้ กรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศจวบจนปัจจุบัน และจากองค์ความรู้ในการสร้างเรือผลักดันน้ำที่ไม่เคยหยุดพัฒนา ทำให้กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังเป็นการสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่ โดยเรือผลักดันน้ำของหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ ได้พัฒนาเรือผลักดันน้ำ จนมีขนาดเรือ กว้าง 1.8 ม. ยาว 5.5 ม. สูง 1.25 ม. กินน้ำลึก 0.75 ม. เครื่องยนต์ ตราอักษร Volvo รุ่น Penta TAD 720VE กำลัง 237 แรงม้า อัตราความสิ้นเปลือง น้ำมันเชื้อเพลิง ดีเซล 16 - 20 ลิตร/ชม. (ตามความเร็วรอบเครื่อง) มีขีดความสามารถเร่งความเร็วน้ำ 100,000 ลบ.ม./วัน/ลำ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและเป็นคอขวด ซึ่งเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลออกได้ช้า
ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ และหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากเหตุอุทกภัยและวาตภัย ในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุ ทั้งนี้สภาพอากาศในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ประเทศไทยจะมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองกระจายเป็นแห่ง ๆ กับมีฝนตกหนักเป็นบางแห่ง ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและอาจล้นเขื่อนแนวป้องกัน รวมทั้งทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ โดยประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน สามารถแจ้งเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทัพเรือ ได้ที่สายด่วนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ 1696 ตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่มีความคิดเห็น