วธ.-จังหวัดอุดร เส็งกลองกิ่ง เปิดงาน “เทศกาลลานวัฒนธรรมเมืองอุดรธานี งานเฉลิมฉลองวันที่ระลึกการตั้งเมืองอุดรธานี ปีที่ 131” สุดยิ่งใหญ่ นางรำนับ 33,000 คน รำบวงสรวงสดุดีพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จัดกิจกรรมเต็มอิ่ม โชว์การแสดง ดนตรี เพลงพื้นบ้าน ตกแต่งไฟประดับ ณ สถานที่สำคัญของเมืองอุดรธานี แวะจุดเช็คอินถ่ายภาพ ช้อปสินค้าทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
วันที่ 18 มกราคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด “เทศกาลลานวัฒนธรรมเมืองอุดรธานี งานเฉลิมฉลองวันที่ระลึกการตั้งเมืองอุดรธานี ปีที่ 131 โดยมีนางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เข้าร่วม ณ ลานราชินูทิศ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ซึ่งก่อนเริ่มพิธีเปิดมีการเสวนา “เล่าเรื่องเมืองอุดรธานี” การแสดงดนตรีพื้นบ้าน วงเวสสุวัณณศิลป์ โรงเรียนเทศบาล 7 ต่อด้วยการแสดงเปิดอย่างสวยงามกับการแสดงรำบวงสรวงสุดุดีพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม การแสดงชุด “กรมหลวงประจักษ์สร้างเมือง” โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี การแสดงเส็งกลองกิ่ง โดยชุมชนคุณธรรมวัดโนนสว่าง ฟังเพลงจากศิลปินชื่อดัง “เก่ง ธชย ประทุมวรรณ” ตลอดจนการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
ด้าน ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า เทศบาลนครอุดรธานี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ภาคีเครือข่ายภาครัฐ, ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ร่วมกันจัดเทศกาล “ลานวัฒนธรรมเมืองอุดรธานี เฉลิมฉลองวันที่ระลึกการตั้งเมืองอุดรธานี ปีที่ 131” ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของพลังทางวัฒนธรรม การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ของดีประจำถิ่น ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานี จึงได้จัดทำโครงการเทศกาลลานวัฒนธรรมเมืองอุดรธานี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตเทศบาลนครอุดรธานีและจังหวัดอุดรธานี กระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยว การค้า สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นด้วยการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและสนุกสนาน ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของเทศบาลนครอุดรธานีและจังหวัดอุดรธานีให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ สร้างการรับรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นของชาวอุดรธานีให้เป็นที่รู้จัก
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ท่านนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีที่ให้การสนับสนุนกิจกรรม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญและผลักดันให้การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง สำหรับจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญและมีศักยภาพ มีความโดดเด่นทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย และด้วยพระกรุณาธิคุณของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี ตลอดจนความสมัครสมานสามัคคีของชาวจังหวัดอุดรธานี จึงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม มุ่งสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ เพื่อสร้างรายได้ เสริมคุณค่า พัฒนาสังคม ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย องค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต ซึ่งเป็น Soft Power มาพัฒนาสร้างสรรค์ภายใต้บริบทใหม่ของสังคมไทยและสังคมโลกจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นชาติไทย และแสดงออกถึงภาพลักษณ์และเกียรติภูมิไทย ตลอดจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ จังหวัดอุดรธานีจึงถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ
ภายในงานมีกิจกรรมประกอบไปด้วยพบกับการแสดงพลุเฉลิมฉลองเมืองสุดยิ่งใหญ่ การแสดงความบันเทิงอันทรงคุณค่า จาก ศิลปิน "เก่ง ธชย" การแสดงเส็งกลองกิ่ง โดย ชุมชนคุณธรรมวัดโนนสว่าง การแสดงหมอลำกลอน จาก ศิลปินพื้นบ้าน การแสดงวงโปงลาง จาก โรงเรียนเทศบาล 7 รถไฟสงเคราะห์ การแสดง จาก "อ้น ภานุวัฒน์" โรงเรียนมัธยมเทศบาล 6 นครอุดรธานี การแสดงดนตรีศิลปวัฒนธรรมของนักเรียน นักศึกษา และศิลปินที่มีชื่อเสียง การจัดแสดงสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวอุดรธานีในหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น และการประดับตกแต่งไฟสร้างบรรยากาศให้เกิดความสวยงามบริเวณสถานที่สำคัญของเมืองอุดรธานี เพื่อเป็นจุดเช็คอินถ่ายภาพ พร้อมทั้งเปิดพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้เข้าเยี่ยมชม และการออกร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก การบริการ การสร้างงานในท้องถิ่น
สำหรับประวัติวามเป็นมา พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี จากที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้ง ในพุทธศักราช 2436 ได้ทรงริเริ่มสร้างบ้านหมากแข้งให้เกิดความเจริญจากหมู่บ้านชนบทจนเป็นเมืองอุดร และต่อมาได้ยกฐานะเป็นจังหวัด นับเป็นการก่อสร้างรากฐานความเจริญวัฒนาถาวรให้เกิดแก่เมืองอุดรธานีจวบจนปัจจุบัน ซึ่งจังหวัดอุดรธานีหรือบ้านเดื่อหมากแข้ง เมื่อ 130 ปีที่แล้ว เป็นผลจากการเกิดกรณีร.ศ.112 เมื่อพ.ศ.2436 เมื่อไทยต้องยอมสละดินแดน ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อรักษาสยามส่วนใหญ่ได้โดยสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างไทย-ฝรั่งเศส โดยมีเงื่อนไขระบุไว้ว่า ห้ามประเทศสยามก่อตั้งกองทหารและป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตร (625 เส้น) ของฝั่งแม่น้ำโขง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน จึงทรงมีหนังสือขอย้ายที่บัญชาการ และข้าราชบริพารออกจากเมืองหนองคายลงมาทางใต้และได้เลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดจากการพิจารณามาตลอดเน้นทางที่ผ่านมา จึงได้เลือกบ้านเดื่อหมากแข้งแห่งนี้เพราะมีความเหมาะสมยิ่ง มีห้วยหนอง คลองบึง ไหลผ่านบริเวณใจกลางหมู่บ้าน และเป็นพื้นที่ไม่ห่างไกลจากจุดเดิมที่จะทำการป้องกันประเทศได้ทันเวลาด้วย
สมัยต่อมาพ.ศ.2442 มณฑลลาวพวนได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ และในปีถัดมาพ.ศ.2443 เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดร หลังจากนั้นในปี 2450 ได้มีท้องตราประกาศยกบ้านหมากแข้งเป็นเมืองอุดร ทำให้คำว่า “อุดรธานี”เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 2450 และเปลี่ยนเป็นจังหวัดอุดรธานีพ.ศ.2476 ดังนั้น พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจากการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี โดยการก่อตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้งในพ.ศ.2436 บ้านหมากแข้งได้เจริญรุ่งเรืองจากบ้านชนบทจนเป็นเมืองอุดรและต่อมาได้ยกฐานะเป็นจังหวัดใหญ่ มีการนำหน่วยงานราชการเข้ามา ก่อตั้งโรงเรียนที่สำคัญให้ลูกหลานชาวอุดรได้เล่าเรียน นับเป็นการก่อสร้างรากฐานความเจริญให้เกิดแก่จังหวัดอุดรธานีได้เป็นที่ประจักษ์จนถึงปัจจุบัน
โดยทุกวันที่ 18 มกราคมของทุกปี ชาวเมืองอุดรธานีมีประเพณีรำบวงสรวงสดุดีพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งได้กระทำมาเป็นประจำกว่า 40 ปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “วันที่ระลึกการก่อตั้งเมืองอุดรธานี” เป็นวาระการเฉลิมฉลองแห่งความภาคภูมิใจในความเจริญรุ่งเรืองของจังหวัดอุดรธานี เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ทรงเลือกพิจารณาชัยภูมิอันเหมาะสม ณ บ้านหมากแข้งในเวลานั้น เป็นรากฐานมั่นคงแห่งเมืองอุดรธานี โดยประเพณีนี้เกิดจากแรงศรัทธาและพลังความร่วมมือ ก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มสตรี ข้าราชการ คหบดีชาวเมืองอุดรธานีด้วยจิตใจแห่งความสามัคคีและเสียสละด้วยความกตัญญู ทำให้เกิดพิธีการรำบวงสรวงถวายแด่ดวงพระวิญญาณของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมขึ้นครั้งแรก ณ ที่ตั้งอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมและได้ยึดถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวเมืองอุดรธานีและเป็นแบบอย่างให้อีกหลายจังหวัดนำแนวคิดนี้ไปขยายสืบต่อการรำบวงสรวงในลักษณะเดียวกันด้วย
ไม่มีความคิดเห็น