Breaking News

จากจุดสู่จุด เชื่อมโยงขนส่ง แบบไร้รอยต่อเป็นจริง ถ้ารัฐหนุน

สภาผู้บริโภคจัดเวทีแลกเปลี่ยนบทเรียนค่าโดยสารรถไฟฟ้าในต่างประเทศเปรียบเทียบกับไทย ดันค่าโดยสาร 20 บาททุกสายทำให้ขนส่งมวลชนทุกคนต้องเข้าถึงได้ ขณะที่ “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” ลั่นปี 2572 ยุทธศาสตร์บูรณาการ รถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง จุดเปลี่ยนขนส่งมวลชนประเทศเชื่อมโยงทุกระบบเพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะที่ผู้แทนจากมาเลเซีย - เกาหลีใต้ ความสำเร็จในการยกระดับขนส่งมวลชนต้องเริ่มจากเจตจำนงการเมืองและการสนับสนุนของรัฐบาล

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาผู้บริโภคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดเสวนา “บทเรียนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทุกคนขึ้นได้ของไทยและต่างประเทศ” เพื่อสรุปบทเรียนในต่างประเทศมาปรับใช้ในประเทศไทย


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายใน 2 สายหลักคือสายสีม่วงและสายสีแดง ซึ่งเป็นโครงการที่ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ส่วนจะเดินหน้านโยบาย 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ หรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากเรื่องราคาค่าโดยสารแล้ว รัฐบาลยังได้พัฒนาระบบตั๋วร่วมซึ่งร่างพระราชบัญญัติตั๋วร่วม พ.ศ. …. จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรในเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบการจองตั๋วรถไฟผ่านระบบ D - Ticket โดยประชาชนสามารถขยายเวลาจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าได้ จากเดิม 30 วัน เพิ่มสูงสุดเป็น 90 วัน และจัดเสริมขบวนรถ/พ่วงตู้ ให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน
ส่วนภาพรวมของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะนั้นเชื่อว่าในปี 2572 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนของประเทศไทยเนื่องจาก การขนส่งสาธารณะ ขนส่งสินค้า ถูกยกระดับให้สามารถบูรณาการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันทั้งในไทย รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและลาวทำให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศผ่าน 60 จังหวัด ส่วนที่เหลือจะเป็นระบบล้อโดยรูปแบบบริษัท ขนส่ง จำกัดหรือ บขส.ต้องไม่วิ่งแข่งขันระยะไกล แต่เปลี่ยนเป็นระบบฟีดเดอร์บริการขนส่งระยะใกล้เพื่อส่งคนเข้าระบบรางที่เป็นขนส่งหลักของประเทศ
“อนาคตระบบขนส่งทางรางจะเป็นขนส่งหลักของประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรถไฟทางคู่ที่มีรางขนาด 1 เมตร ความเร็วสูงสุดประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกับรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนาดราง 1.43 เมตร ทำให้ร่นเวลาในการเดินทางและการขนส่งลง ทำให้รถบรรทุกหายไปจากท้องถนนและลดมลพิษ PM 2.5 ด้วย เพราะเมื่อรถไฟทางคู่เสร็จแล้วจะมีทางรถไฟมากกว่า 8,000 กิโลเมตร ให้บริการประชาชนได้ 61 จังหวัด ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น” นายสุรพงษ์กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า หัวใจสำคัญที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของขนส่งมวลชนสาธารณะอีกประเด็นคือการกระจายอำนาจในการจัดการระบบขนส่งมวลชนให้กับท้องถิ่นในการจัดการตัวเอง โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้กฎกระทรวงให้ท้องถิ่นสามารถบริการจัดการเดินรถของตัวเองได้ทำให้เกิดการกระจายขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
“ผมเชื่อว่าให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการขนส่งสาธารณะถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพราะที่ผ่านมาจัดการโดยส่วนกลาง แต่หลังจากนี้จะไม่มีการส่งผ้าเป็นม้วนลงไปให้พื้นที่แล้ว แต่ให้แต่ละท้องถิ่นไปจัดการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้เหมาะสมกับท้องที่ของตัวเอง ซึ่งท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งจะรู้ว่าต้องจัดระบบขนส่งมวลชนแบบไหนที่จะตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จุดยืนของสภาผู้บริโภคคือต้องการบริการขนส่งมวลชนที่ทั่วถึง เช่น เดินออกจากบ้านไปเพียง 500 เมตรต้องเจอป้ายรถสองแถว ป้ายรถเมล์หรือแม้แต่รถไฟฟ้า แต่ปัจจุบันมีอุปสรรคอยู่มากมายโดยเฉพาะปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางแพง ทั้งนี้ ค่าเดินทางควรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำเพราะจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งได้ ไม่ใช่เฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น
“สภาผู้บริโภคได้ขับเคลื่อนการเข้าถึงขนส่งมวลชนสาธารณะเพื่อให้ผู้บริโภคเดินทางสะดวกปลอดภัย และราคาเป็นธรรม โดยสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท และเชื่อว่าสามารถทำได้จริง โดยสามารถหารายได้จากแหล่งอื่น อย่างเช่น ค่าโฆษณา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะด้วยกันไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราเชื่อว่าบริการขนส่งมวลชนเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประชาชนจ่ายร้อยเปอร์เซนต์” นางสาวสารีกล่าว
นางสาวสารี กล่าวด้วยว่า การทำให้ราคารถไฟฟ้าถูกลงยังช่วยประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งหากดูตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่าตั้งแต่ 1 มกราคม - 1 มีนาคม 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจาก PM 2.5 มากถึง 1,730,976 ราย และโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสำหรับแผนกผู้ป่วยนอกที่มารักษาพยาบาลด้วยโรคระบบทางเดินหายใจอย่างน้อย 700 บาทต่อคน รวมค่าใช้จ่ายมากกว่า 12,000 ล้านบาท นอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีค่าเดินทางต้องหยุดงานและขาดรายได้ ซึ่งประเมินเป็นมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท รวมตัวเลขทั้งสองส่วนนี้ก็มากถึง 4,000 ล้านบาทถึง 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้สภาผู้บริโภคเห็นว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการจัดบริการขนส่งสาธารณะโดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ. สามารถจัดบริการขนส่งมวลชนได้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจและทำให้การบริการสอดคล้องกับคนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งท้องถิ่นนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง ปัจจุบันจากความร่วมมือของสภาผู้บริโภคและ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทำงานในพื้นที่ 33 จังหวัดก็พบว่ามีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้นที่ทำเรื่องบริการขนส่งสาธารณะ
ขณะที่ นายอธิภู จิตรนุเคราะห์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางราง กล่าวว่า การปรับพฤติกรรมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงมาต้องใช้เวลาเกิน 5 ปีขึ้นไป โดยที่ผ่านมา คนไทยใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจำนวนมากแต่เริ่มปรับพฤติกรรมมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ รัฐบาลได้มีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ในรถไฟฟ้าสายสีแดง ทำให้รถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 23 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ซึ่งเฉลี่ยทั้งสองสายมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 15
อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะไม่ใช่เพียงเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว แต่เรื่องของนโยบายทางการเมืองที่มีเจตจำนงชัดเจนในการยกระดับและเชื่อมต่อกันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะนโยบายค่าโดยสารและนโยบายที่รัฐต้องสนับสนุนเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเดินทางมากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน์ จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่จะสามารถดำเนินการได้ มีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของเจตจำนงทางการเมืองซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่เกิดจากภาคการเมืองและความเข้าใจที่ถูกต้อง
โดยที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะต้องมีความสะดวก ความปลอดภัยและประหยัด โดยทุกหน่วยงานต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงคมนาคมอย่างเดียวแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการพัฒนากลไกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าให้มีราคาต้นทุนต่ำเพราะปัจจุบันประเทศไทยยังนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ
ขณะที่การทำกำไรก็ต้องเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถทำกำไรได้ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบ ๆ สถานี โดยในหลายประเทศพื้นที่รอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้าเกิดห้างสรรพสินค้าและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ไทยทำไม่ได้เพราะติดพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินไม่สามารถเอาที่ดินไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้เวนคืน
ขณะที่บทเรียนจากต่างประเทศ นายอาจิต โจห์ล รองเลขาธิการสหพันธ์สมาคมผู้บริโภคและประธานสมาคมผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งในประเทศมาเลเซียให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่และทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ชัดเจน
เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศมาเลเซียได้ให้การอุดหนุนราคาน้ำมันกับผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากถึง 15,000 ล้านริงกิตมาเลเซียต่อปีจนทำให้ปัจจุบันประเทศมาเลเซียมีรถยนต์บนท้องถนนจำนวนมาก ขณะที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังต้องการใช้บริการขนส่งสาธารณะรวมทั้งรถไฟฟ้าหรือรถสาธารณะปรับอากาศซึ่งความต้องการเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้จากผู้ใช้บริการ นอกจากนี้การปล่อยกู้จากธนาคารก็มีข้อจำกัดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งสาธารณะด้วยเช่นกัน เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ปล่อยให้กู้ในระยะเวลาเพียง 25 ปี ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เวลามากกว่า 25 ปีถึงจะคืนทุน ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องลงทุนในระบบขนส่งมวลชนและที่สำคัญต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน
ขณะที่ผู้แทนจากสถานทูตเกาหลีใต้ได้ให้ความเห็นว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะในประเทศเกาหลีเป็นเรื่องสะดวกสบายมากเนื่องจากผู้ใช้บริการสามารถใช้บัตรเครดิตเพียงใบเดียวก็สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะในประเทศเกาหลีได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการรถไฟฟ้าหรือแม้แต่รถบัส นอกจากนี้ยังได้ส่วนลดและสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากการใช้บริการบัตรเครดิต ประกอบกับคุณภาพและความสะดวกในการใช้บริการ เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

ไม่มีความคิดเห็น