กระทรวงพาณิชย์เตรียมเซ็น MOU ผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศเพื่อยกระดับการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการให้ข้อมูล ราคาขายปลีกสินค้าอุปโภค – บริโภค และราคาวัสดุก่อสร้าง โดยมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์
การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงพาณิชย์กับ 15 องค์กร ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค และวัสดุก่อสร้างรายสำคัญของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง 9 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอก – ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัดบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด
บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด รวมทั้งผู้ประกอบการค้าวัสดุก่อสร้าง5 ราย ประกอบด้วย บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด บริษัท เมกา โฮมเซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จำกัดความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้า และจากข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบการ ได้เผยแพร่ข้อมูลราคาสินค้าเป็นสาธารณะอยู่แล้ว ประกอบกับมีเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยในการจัดส่งข้อมูล ดังนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลราคาดังกล่าวจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องข้อมูลมีความหลากหลาย ประสิทธิภาพของข้อมูลราคาที่เพิ่มขึ้น มีการจัดส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้ดัชนีเศรษฐกิจการค้ามากยิ่งขึ้นข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าอุปโภค – บริโภค และราคาวัสดุก่อสร้าง สำหรับจัดทำดัชนีที่สำคัญ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งใช้เป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ เช่น อัตราเงินเฟ้อ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศ ใช้ประกอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ใช้ในการติดตามค่าครองชีพของประชาชน และภาคเอกชนใช้เป็นตัวชี้วัดการลงทุนและดำเนินการด้านธุรกิจ เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าจากผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้าง จะถูกใช้เพื่อจัดทำราคาวัสดุก่อสร้าง โดยทุกโครงการก่อสร้างภาครัฐต้องใช้ราคาที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์เป็นราคาอ้างอิงซึ่งความถูกต้องของข้อมูลราคาจะสร้างความเป็นธรรมให้ทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม
ผอ. สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ส่วนสำคัญที่สุดมาจากความตั้งใจในการให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลและความเสียสละของทั้ง 15 องค์กร ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลราคาโดยตรงจากผู้ประกอบการเป็นเพียงหนึ่งในหลายแนวทางที่ สนค. ตั้งใจจะพัฒนาการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้า นอกเหนือจากการดำเนินการอื่น ๆเช่น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้ามากขึ้น เพื่อยกระดับการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าในทุกมิติ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ดัชนีเศรษฐกิจการค้าในทุกภาคส่วน
ไม่มีความคิดเห็น