"เสริมศักดิ์”ชวนชม-ช้อปผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ชิมอาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น เที่ยวตลาดย้อนยุค ชมสาธิตอาหารชาววัง ขนมไทย การแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้า จำอวดหน้าม่าน รำวงพื้นบ้านในงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ 21-25 เม.ย.นี้ ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมกว่า 20 หน่วยงาน จัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน บริเวณพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีและเพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อยอดสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า กิจกรรมภายในงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ วันที่ 21-25 เมษายน 2567 แบ่งเป็น 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่แรกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ มีกิจกรรมประกอบด้วยซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จบูรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ การแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในยามค่ำคืน (Night Museum) การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น งิ้วเปลี่ยนหน้า มหัศจรรย์ มนตรา มายากล จำอวดหน้าม่าน วงดนตรีรำวงพื้นบ้านทุกวันมีการบรรเลงดนตรีไทย ดนตรีสากลและชมตลาดย้อนยุคมีการสาธิตและจำหน่ายอาหารชาววัง ขนมไทยและงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มี 20 บูธ เช่น แตงโมปลาแห้ง ล่าเตียง ม้าฮ่อหน้ากุ้งสด ข้าวแช่โบราณ ขนมดาราทอง ขนมเสน่ห์จันทร์ ทองเอก ขนมลูกชุบ ขนมหัวเราะ แกะสลัก ร้อยมาลัย การทำดินสอพองและแป้งร่ำ หัวโขนจิ๋วและหุ่นกระบอกเล็ก เป็นต้น รวมทั้งตลาดอาหารไทย อาหารถิ่นที่มีการจำหน่ายอาหารประเภทต่างๆ
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวนประชาชนแต่งกายด้วยชุดไทย นุ่งโจงห่มสไบ เข้าร่วมงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ภายในงานมีร้านเช่าชุดไทยและถ่ายภาพย้อนยุค ชมตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ซึ่งมีการจำหน่ายสินค้าทั้งเครื่องประดับ เครื่องใช้และของตกแต่ง ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า เครื่องหอม และเครื่องจักสาน รวมทั้งหมด 27 ร้านจากทุกภาคของประเทศไทย เช่น เครื่องประดับลงยา กรุงเทพฯ เครื่องประดับพลอย จ.ตราด เครื่องเงินสุโขทัย จ.สุโขทัย ผลิตภัณฑ์ไข่มุก จ.ภูเก็ต ผลิตภัณฑ์ทองเหลือง จ.พระนครศรีอยุธยา เครื่องปั้นดินเผา จ.นนทบุรี เครื่องถมนครหัตถกรรม จ.นครศรีธรรมราช เรือบุญ เครื่องหอมจากดอกไม้และสมุนไพร จ.สระบุรี ผ้าพื้นเมือง จ.เชียงราย ผ้าซิ่นตีนจก จ.แพร่ ผ้าย้อมครามบ้านเชียง จ.อุดรธานี ผลิตภัณฑ์จักสานป่านศรนารายณ์ จ.เพชรบุรี ผลิตภัณฑ์จากกระจูด จ.นราธิวาส และชิมอาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นจาก 10 จังหวัด อาทิ น้ำพริกป่ามะดัน จ.นครนายก เมี่ยงคำบัวหลวง จ.ปทุมธานี คั่วเนื้อคั่วปลา จ.ชัยภูมิ ทอดมันปลากราย จ.นครสวรรค์ แกงเหงาหงอด จ.พระนครศรีอยุธยา แกงขมิ้นไตปลาโบราณ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ส่วนพื้นที่ที่สอง กิจกรรม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน มีกิจกรรม เช่น กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจากโลกเสมือนต่อยอดสู่โลกความจริง การแสดงดนตรีร่วมสมัย กิจกรรมสาธิตศิลปะร่วมสมัย การแสดงมายากลร่วมสมัย นิทรรศการสงกรานต์และเทศกาลทางน้ำในอาเซียน เป็นต้น ขณะเดียวกัน
ปีนี้มีพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 5 แห่งที่เข้าร่วมจัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี
กรุงรัตนโกสินทร์ เปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1.พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม 2.พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน 3.พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ 4.พิพิธบางลำพูและ5.มิวเซียมสยาม ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765
ไม่มีความคิดเห็น