Breaking News

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เดินหน้าต่อสัญญา 10 ปี ขยายฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยพร้อมส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ให้ สวทช. นำไปวิจัยด้านพลังงาน


บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวไทยและสานต่อแผนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประกาศลงนามต่อสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เป็นระยะเวลา 10 ปี ในฐานะพันธมิตรระยะยาวที่มีบทบาทในการประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงขานรับนโยบายระดับโลกในการผลักดันแนวคิด Circular Economy ประเดิมด้วยการส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Cellblocks) ขนาด 2 MWh ซึ่งรวบรวมมาจากแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ใช้ทดสอบในกระบวนการผลิต ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและสร้างแหล่งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้เซลล์แบตเตอรี่ดังกล่าว ยังถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรชาวไทยในด้านพลังงานซึ่งจะส่งผลดีให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต

มร. มาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์
(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ย้อนกลับไปเมื่อ 120 ปีที่แล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นรถยนต์แบรนด์แรกที่เข้ามาในประเทศไทย และเช่นเดียวกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในวันนี้เราก็ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการเป็นแบรนด์รถยนต์ลักชัวรี่แบรนด์แรกที่เริ่มผลิตแบตเตอรี่และประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรุ่น EQS 500 4MATIC AMG Premium ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรทางธุรกิจของเรา และสำหรับก้าวต่อไปในการขยายกำลังการผลิตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ จึงได้ดำเนินการต่อสัญญาว่าจ้างบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ให้เป็นผู้ประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย ต่อไปเป็นระยะเวลาอีก 10 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการผลิตและการประกอบรถยนต์ที่มีมาตรฐานระดับโลกอย่างต่อเนื่อง”ความร่วมมือของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย และ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2522 ซึ่งร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ของรถยนต์ลักชัวรี่ที่อยู่คู่กับคนไทยอย่างยาวนาน ผ่านการผสานความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงกรรมวิธีการผลิตที่มีมาตรฐานระดับโลกจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ และความเชี่ยวชาญของโรงงานผลิตในประเทศที่มีดีเอ็นเอตรงกับแบรนด์อย่างแท้จริง ทำให้ในปัจจุบันมีรถยนต์กว่า 13 รุ่น ที่ถูกผลิตขึ้นในโรงงานแห่งนี้ ได้แก่ A-Class, C-Class, E-Class, S-Class, GLA, GLC, GLE, GLS, C-Coupe, GLC-Coupe, CLS, Maybach S-Class, และ EQS โดยมีการเฉลิมฉลองการประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ คันที่ 200,000 ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา


 นายรัฐพล วิริยะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และ บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) และเมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ในการเป็นผู้ดำเนินการประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ อย่างเป็นทางการต่อไปเป็นระยะเวลาอีก 10 ปี โดยนอกจากการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตในทุกๆ ด้าน และการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเมอร์เซเดส-เบนซ์มาปรับใช้ในการผลิตรถยนต์ในประเทศ เพื่อขยายไลน์การประกอบรถยนต์ให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ทางธนบุรีฯ ยังรองรับการผลิตแบตเตอรี่และการประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผ่านโรงงานของบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TESM) ที่มีการริเริ่มผลิตแบตเตอรี่และประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกอย่าง EQS 500 4MATIC AMG Premium ทั้งนี้เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพโรงงานและศักยภาพของบุคลากรให้ลูกค้าทุกคนมั่นใจในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสร้างตำนานบทใหม่ให้กับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทยต่อไป”
จากวิสัยทัศน์และนโยบายของแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในระดับโลก ที่ขับเคลื่อนแผนงานด้านความยั่งยืนอย่างจริงจังในทุกมิติ หนึ่งในนั้นคือการผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ภายใต้แนวคิด “Design for Circularity” ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตในการเพิ่มสัดส่วนของการใช้วัสดุทดแทนที่มาจากกระบวนการรีไซเคิลชิ้นส่วนรถยนต์ ในขณะเดียวกัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย
ก็ได้เล็งเห็นประโยชน์ในการนำแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ใช้สำหรับการทดสอบแบตเตอรี่ในกระบวนการผลิต
มาพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้เชื่อมต่อกับสายส่งไฟฟ้า โดยริเริ่มด้วยการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Cellblocks) ขนาด 2 เมกะวัตต์ ให้กับ สวทช. ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมไทย ทั้งยังยกระดับความสามารถของบุคลากรไทย และสนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้มีมาตรฐานระดับโลก
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ กระทรวง อว. โดย สวทช. มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน หรือ ESS (Energy Storage System) จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้ร่วมกับ บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อสร้างศูนย์ออกแบบและการทดสอบแหล่งเก็บกักพลังงานจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดย สวทช. มีความมุ่งมั่น และเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) อีกทั้งความร่วมมือในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนยานยนต์ระดับโลก ที่สามารถส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทีล้ำสมัยของยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ โดยโมดูลแบตเตอรี่ที่ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ส่งมอบให้ สวทช. นับเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อนักวิจัยของเรา และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายด้านการวิจัยพัฒนาพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนต่อสังคมไทย ได้อย่างแน่นอน ”
“นอกเหนือจากการส่งมอบประสบการณ์แบบลักชัวรีในทุกมิติภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ “Retail of the Future” ให้กับลูกค้าทุกคน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรชาวไทย ทั้งผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจของเรา รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยก้าวสู่ระดับสากล” มร. มาร์ทิน กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น