สสส.- ม.มหิดล เปิด “รายงานสุขภาพคนไทย 2567” พบเทคโนโลยีีดิิจิทัลเข้ามาพลิิกโฉมการดููแลสุุขภาพและความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งระบบสาธารณสุข บริการข้อมูล การศึกษา วัยเรียนใช้อินเทอร์เน็ตไปกับสื่อ Social มากที่สุด พนันออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักและขาดมาตรการที่ชัดเจน รวมไปถึงประเด็นความเครียดที่พบได้ในทุกช่วงวัย
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอข้อมูล 11 ตัวชี้วัด เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลกับสุขภาพคนไทยในมิติต่าง ๆ 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพปี 2567 พร้อมเรื่องพิเศษประจำฉบับ คือ "ความเครียด ภัยเงียบของสังคมไทย"
โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. จัดทำรายงานสุขภาพคนไทยมาตั้งแต่ปี 2546 ตามแผนพัฒนาระบบ และกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มุ่งจัดทำงานวิจัย ผลงานวิชาการ และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพตามทิศทาง และเป้าหมายกองทุนฯ ระยะ 10 ปี หนุนเสริมการนำผลงานเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์จริง และเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยรายงานสุขภาพคนไทยเป็นรายงานประจำปี ที่รวบรวมบทวิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านสุขภาพที่ทันต่อเหตุการณ์ของแต่ละปี เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทยที่กำลังเกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า รายงานสุขภาพคนไทยจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูล และประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทยในทุกมิติ มีการนำเสนอในช่องทางที่หลากหลายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถเข้าถึงได้ง่ายในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความรับรู้และตระหนักไปในวงกว้างต่อประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย รวมทั้งบทวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรายงานสุขภาพคนไทยปี 2567 ไปใช้ประโยชน์ ทั้งการพัฒนากำหนดนโยบาย ติดตามหรือขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทย
รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ หัวหน้าโครงการจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2567 กล่าวว่า ส่วนตัวชี้วัด 2567 นำเสนอสถิติในประเด็น “เทคโนโลยีดิจิทัลกับสุขภาพคนไทย” ทั้งหมด 11 ตัวชี้วัด ที่สะท้อนว่าเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในทุกมิติของการดำเนินชีวิต โดยพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัยอย่างมาก ได้แก่ ด้านสุขภาพของประชาชน ด้านผู้ให้บริการ ด้านระบบสาธารณสุข ด้านบริการข้อมูลสุขภาพ ด้านคุณภาพความเป็นอยู่ ด้านการทำงานในรูปแบบ Work From Home ด้านการศึกษาที่ควรส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกภูมิภาค ด้านสื่อสังคมออนไลน์ที่ควรจับตาพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนอายุ 6-24 ปี ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด และทุกกลุ่มวัยที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เกือบทุกวัน เฉลี่ยใช้อินเทอร์เน็ต 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ด้านวิถีชีวิต ด้านการตลาดดิจิทัลที่กลุ่มเด็กและเยาวชนพบเห็นโฆษณาชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ และด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า สถานการณ์เด่นทางสุขภาพปี 2567 ที่อยู่ในความสนใจของสังคม มี 10 สถานการณ์ ได้แก่ 1.การกราดยิงกับแนวทางการควบคุมอาวุธปืน 2.ปัญหาแพทย์ลาออก ควรดำเนินการอย่างไร 3. สองทศวรรษของบัตรทอง : การขยายสิทธิประโยชน์แบบจัดหนักจัดเต็ม 4.การพนันออนไลน์ กับดักเยาวชนและคนหนุ่มสาว 5.เกิดแล้วเกิดอีก อุบัติเหตุจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 6.มาเฟียข้ามชาติกับการแก้ไขปัญหา 7.แรงงานไทยในตะวันออกกลาง ทางสองแพร่งระหว่างความมั่งคั่งกับความมั่นคงในชีวิต 8.มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย 3 หมื่นคนต่อปี ถึงเวลาทวงสิทธิอากาศสะอาด 9.การถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. ความเป็นมา ปัญหาความท้าทาย และ 10.ธรรมนูญสุขภาพฉบับที่ 3 มุ่งสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม
รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องพิเศษฉบับนี้ คือ "ความเครียด" จากสถิติและข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกันว่า คนไทยเครียดมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและมีการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 มี 355,537 คน เพิ่มเป็น 358,267 คน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 2,730 คน อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2563 อยู่ที่ 5-6 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มเป็น 7.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2564 กลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 15-34 ปี ขณะที่ข้อมูลกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่า ประชาชนมีความเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า โรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 5.9 เท่า โดยส่วนใหญ่คนมุ่งดับอารมณ์แห่งความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่ได้มุ่งค้นหาสาเหตุหรือทางแก้เหตุ เช่น การใช้ความรุนแรง การเบี่ยงเบนความสนใจของตนเอง ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบสุขภาพ อย่างการติดบุหรี่ เหล้า หรือใช้สารเสพติด
รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวว่า คนแต่ละช่วงวัยมีต้นเหตุความเครียดแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปจะไม่แตกต่างมากนัก 1.วัยเด็กเป็นเรื่องการเรียน ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และการคบเพื่อน 2.วัยทำงานเป็นเรื่องสร้างฐานะ สร้างครอบครัว และดูแลคนในครอบครัว โดยพบปัญหาเสี่ยงหมดไฟ 57% หมดไฟ 12% 3.วัยสูงอายุเป็นเรื่องสุขภาพ การเงิน และความโดดเดี่ยว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนดิ้นรน เปรียบเทียบ แก่งแย่ง ช่วงชิง และเบียดเบียนกันมากขึ้น เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่สุมให้อุณหภูมิความเครียดภายในสะสมสูงขึ้น จนกลายเป็นภาวะเรื้อรังของสังคมในศตวรรษที่ 21 ทั้งที่โลกเจริญด้วยเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างสะดวกสบาย
“การฟื้นสภาพ (resilience) ด้านจิตใจเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องได้รับการฝึกฝน การพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างความมั่นใจในการแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การมีมุมมองในทางสร้างสรรค์ หรือชี้ให้เห็นถึงด้านดีของการมีความเครียดในระดับที่เหมาะสม จะทำให้คนพยายามแก้ปัญหา รวมถึงควรมีการปลูกฝังกรอบแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) เพื่อรับมือกับความเครียดที่จะมาในรูปแบบและระดับต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น