Breaking News

วธ.รวมใจชาวยโสธรเปิดบ้านฟ้าหยาด สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 66 แห่มาลัยข้าวตอก “หนึ่งเดียวในโลก” ยิ่งใหญ่ งดงาม ตระการตา ร่วม“นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 5 วัด” สักการะพระพุทธรูป ณ วัดกลางโพธิ์ชัยเสริมสิริมงคล หนุนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างรายได้สู่ชุมชน

 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 นาง.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคนทำมาลัยข้าวตอก หนึ่งเดียวในโลก โดยมี นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยโสธร นายอำเภอมหาชนะชัย  วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร  ผู้นำชุมชนและชาวชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด เข้าร่วม ณ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 


ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและคณะได้ร่วมกิจกรรม “นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 5 วัด” จากนั้นเดินทางไปวัดกลางโพธิ์ชัย กราบสักการะพุทธรูปวชิรมหาชนะชัยภายในโบสถ์และพระพุทธรูปปางลีลาสูง 10 เมตร และกราบสักการะพระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอมหาชนะชัย-ค้อวัง(ธรรมยุต)และเจ้าอาวาสวัดกลางโพธิ์ชัย  เข้าสักการะศาลหลักเมืองพระเรืองไชยชำนะและร่วมกิจกรรม“จิบกาแฟ แลวัวข้ามแม่น้ำชี” และการทำสมุนไพรแช่เท้าและนวดสปาเท้า ณ ชุมชนเรือนไทยฝั่งแดง หลังจากนั้นเข้าร่วมขบวนแห่มาลัยข้าวตอก“หนึ่งเดียวในโลก”ไปยังวัดหอก่อง  รับชมการฟ้อนรำถวายมาลัยข้าวตอก กราบสักการะพระครูอมรโชติวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหอก่อง และร่วมพิธีถวายมาลัยข้าวตอกเป็นพุทธบูชาและเยี่ยมชมมาลัยข้าวตอก ณ ศาลาการเปรียญวัดหอก่อง 



ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า  รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยี่ยมเยือนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 1 ในสุดยอดชุมชนต้นแบบ“เที่ยวชุมชน  ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ. 2566  ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับชุมชนคุณธรรมฯ  ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน  โดยเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้โครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยคัดเลือกชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติทั่วประเทศ จำนวน 76 ชุมชน ให้เหลือ 10 ชุมชน เพื่อรับโล่เชิดชูเกียรติ 10 สุดยอดชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จากนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติผู้มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้ อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชุมชน 


นางยุพา กล่าวอีกว่า ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาดในวันนี้ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นชุมชนที่มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่ายในการขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการอนุรักษ์สืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ชุมชนบ้านฟ้าหยาดเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองมหาชนะชัยที่บ้านเวินชัย และทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งท้าวปู่คำพูนเป็นเจ้าเมืองมหาชนะชัย พระราชทานนามว่า พระเรืองไชยชำนะ ต่อมาได้ย้ายเมืองใหม่มาที่บ้านฟ้าหยาด และทางราชการได้ยุบเมืองมหาชนะชัยเป็นอำเภอมหาชนะชัยขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี  หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมหาชนะชัย เป็น “อำเภอฟ้าหยาด”ในปีพ.ศ.2460 จากนั้นในปีพ.ศ.2482 ได้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอมหาชนะชัย” ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2515 ได้มาขึ้นตรงต่อจังหวัดยโสธร   ชุมชนบ้านฟ้าหยาดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวอีสาน เนื่องจากในอดีตชาวลัวะหรือละว้า(ลาวเหนือ)หรือชาวกุลา(เงี้ยว-ไทยใหญ่)ที่มาจากภาคเหนือแถบพิษณุโลกได้อพยพมายังดินแดนบ้านหยาดฟ้า มีอัตลักษณ์นิยมแต่งกายโทนสีขาวสื่อถึง“บุญ”ความบริสุทธิ์และเป็นสีของมาลัยข้าวตอกและใช้ภาษาอีสานเป็นภาษาพื้นถิ่น มีงานประเพณีสำคัญคือ งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกในช่วงเทศกาลมาฆบูชาวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกและได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)เป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 โดยมาลัยข้าวตอกจะแห่ไปถวายวัดห่อกอง  ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านฟ้าหยาด เรื่องดอกไม้สวรรค์ และได้นำเอา“ข้าวตอกแตก”มาร้อยเป็นพวงมาลัยถวายเป็นพุทธบูชา เรียกว่า “มาลัยข้าวตอก”ใช้แทนดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่จะบานและร่วงหล่น เนื่องด้วยเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญใช้ในการต้อนรับแขกเมืองหรือแขกผู้ใหญ่ที่มาจากต่างถิ่นและกิจกรรมนุ่งซิ่นนั่งสาดตักบาตร 5 วัดทุกวันเสาร์  ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยผ้าไทยผ้าพื้นถิ่นนุ่งผ้าถุงเสื้อโทนสีขาวเพื่อใส่บาตรพระสงฆ์จาก 5 วัด ได้แก่ วัดกลางโพธิ์ชัย วัดฟ้าหยาด วัดหอก่อง วัดป่ามหาชนะชัยและวัดพระพุทธบาทที่มาบิณฑบาตตามถนนเรืองแสนกรรฐ์ ภายในชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดหอก่อง  พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก วัดฟ้าหยาด ศาลหลักเมืองพระเรืองไชยชำนะ ศูนย์การเรียนรู้มาลัยข้าวตอก วัดพระพุทธบาทยโสธร และมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่น เช่น มาลัยข้าวตอกในรูปแบบมาลัยจิ๋วถวายเป็นพุทธบูชา มาลัยกรจากข้าวตอก มาลัยแบบพวงกุญแจ  ผ้าพื้นเมืองลายมาลัยข้าวตอกและธุงมาลัยข้าวตอก จักสานบ้านฟ้าหยาดผ้าพื้นเมืองทอมือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ลูกประคบ ผงแช่เท้า และอาหารพื้นบ้าน เช่น อั่วกบสมุนไพร น้ำพริกปลาส้มสมุนไพรและน้ำพริกสมุนไพร ลาบปลา ต้มปลาแม่น้ำชี  รวมทั้งมีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักและกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ล่องเรือ/ล่องแพแม่น้ำชี สปาเท้าสมุนไพร ดริฟกาแฟแลธรรมชาติฝั่งแดง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น