วิศวะฯ สจล. จับมือสมาคมศิษย์เก่าฯ สานต่อนโยบายอธิการบดีตอบตรงโจทย์ ปลูกตรงจุด สู่มิติใหม่สร้างฐานนวัตกรรมระดับโลกที่ยั่งยืน
จากนโยบายของรองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนา เสริมสร้าง เชื่อมโยงด้านการศึกษาและวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความยั่งยืน จึงเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ขึ้น
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นคณะที่มีศักยภาพที่เข้มแข็ง มีความพร้อม สามารถประสานสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับสมาคมศิษย์เก่า สจล. ทั้งในด้านวิชาการ การวิจัยพัฒนา การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้เพื่อสร้างบัณฑิตใหม่ที่มีศักยภาพสูงตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยสมาคมศิษย์เก่า สจล. ได้มีความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ทั้งในด้านวิชาการและด้านความร่วมมือกับเครือข่าย อาทิ การจัด Professional Technical Skill โดยเครือข่ายสมาคมศิษย์เก่า สจล. จัดการอบรมด้านวิชาชีพให้กับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวนกว่า 20 หลักสูตร ทางด้านงานติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องกล และอาคารอัจฉริยะ โดยหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้มีทักษะทางด้านการลงมือปฏิบัติจริง (Hard Skills) มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำทักษะและความรู้ที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ระบบ IoT เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมและเพิ่มมูลค่ารายได้ของชุมชนผ่านโครงการ Creating Shared Value (CSV) เช่น การติดตั้งระบบวัดน้ำเสียในคลอง ระบบโซล่าร์เซลล์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีไปช่วยในด้านการเกษตร เช่น การติดตามอายุของทุเรียนด้วย QR Code เป็นต้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “โครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมศิษย์เก่า สจล. กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีวัตถุประสงค์ให้สถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ เชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน โดยผ่านเครือข่ายสมาคมศิษย์เก่า (Alumni Network) ที่เข้มแข็ง ปัจจุบันมีความร่วมมือในประเภทต่างๆ อาทิ การมอบทุนการศึกษาและทุนวิจัยแก่บุคลากรจากภาคอุตสาหกรรม, การเชิญบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมร่วมเป็น Industrial Advisory Board (IAB) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงความต้องการ, การเชิญภาคอุตสาหกรรมมาร่วมสอน เป็นวิทยากร และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมผ่านโครงการต่างๆ เช่น Monozukuri, การรับนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานผ่าน การฝึกงาน การทำสหกิจ Industrial Experience for Engineers และโครงการ Work-integrated Learning ของคณะฯ ที่ได้รับอนุมัติข้อเสนอฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์, ความร่วมมือด้านงานวิจัยเชิงลึกและวิจัยเชิงอุตสาหกรรม และการสร้างห้องปฏิบัติการภายในคณะฯ
นอกจากนี้ยังได้รับมอบอำนาจจาก รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี ให้ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับบริษัท คัมเวลคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การทดสอบ ด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และความร่วมมือทางวิชาการอื่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา”
คุณบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ นายกสมาคมศิษย์เก่า สจล. และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คัมเวลคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความร่วมมือในโครงการนี้มีความคืบหน้าที่ดี เราได้รับความร่วมมือจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัดสรรงบประมาณในรูปแบบทุนเกือบ 3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการศึกษาในหลักสูตร Certificate in Quantitative Finance (CQF) ให้กับอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จำนวน 9 ท่าน หลักสูตรนี้มีมาตรฐานระดับสากลและเทียบเท่ากับหลักสูตรปริญญาโทด้าน Financial Engineering โดยมีความมุ่งหวังว่าอาจารย์ทั้ง 9 ท่านจะได้นำความรู้และความสามารถมาพัฒนาบุคลากรและตลาดทุนไทยต่อไป นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือทดสอบ วิจัยพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนดังนี้1. ความร่วมมือทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) โดยสถานประกอบการ สนับสนุนให้ใช้ห้องทดสอบด้าน EMC ระดับ Pre compliance ในราคาพิเศษ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและผลงานวิจัยให้ได้รับการทดสอบอย่างมีมาตรฐาน ระบบ Smart Rail Tracking Monitoring System ซึ่งเป็นผลงานวิจัยคณะวิศวะฯ สจล. ก็ได้รับความร่วมมือจากทีมผู้เชี่ยวชาญบริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมการทดสอบมาตรฐาน EMC ขั้น Pre-Compliance IEC 61326-1
2. การวิจัยและพัฒนาการใช้ระบบแจ้งเตือนภัยจากฟ้าผ่าและระบบการจัดการฟ้าผ่าอัจฉริยะ โดยการติดตั้งใช้งานเพื่อความปลอดภัยบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และชุมชนข้างเคียงอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อจะติดตั้ง วิจัยและใช้งานในเดือนมิถุนายน 2567 อาทิ ระบบตรวจจับการบุกรุกด้วยไฟเบอร์ออฟติค และระบบตรวจจับการสั่นสะเทือนในระบบรางด้วยไฟเบอร์ออฟติค
3. การส่งเสริม สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สนับสนุนทุนค่าบำรุงการศึกษา และบริษัท คัมเวล คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนค่าวัสดุการวิจัยและใช้ห้องทดสอบที่เกี่ยวข้อง จำนวนปีละ 2-5 ทุน ซึ่งในปีนี้เราให้ทุนวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์และสังคม ด้วยการนำปัญหาและความต้องการนวัตกรรมของบริษัท มากำหนดเป็น Project Based มีการคัดเลือกพนักงานและนักศึกษาเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกจำนวน 5 ท่าน คือ 1. คุณภาธร สิรจันทร์สว่าง (การประยุกต์ใช้กราฟินเพิ่มความนำไฟฟ้าสำหรับระบบต่อลงดิน) 2. คุณกิตตินนท์ หมอก็เป็น (โมเดลทางคณิตศาสตร์สำหรับการแจ้งเตือนฟ้าผ่าความแม่นยำสูงด้วยข้อมูลอุตุนิยมวิทยา) 3. คุณพิพัฒน์ ธนาภรณ์ชินพงษ์ (ระบบสื่อสารสายใยแก้วนำแสงเพื่อตรวจจับผู้บุกรุก) 4. คุณปวรุตม์ กองสมบัติสุข (ระบบซอฟต์แวร์ในการแจ้งเตือนฟ้าผ่าด้วย AI) 5. คุณวิโรจน์ ตั้งธีรจรูญวงศ์ (EMC สำหรับระบบตรวจจับโลหะแปลกปลอมขนาดเล็ก) ปริญญาโทจำนวน 2 ท่าน คือ 1. คุณกรกนก กุลยอด (การค้นหาตำแหน่งการผิดปกติสำหรับระบบต่อลงดิน) และ 2. คุณณัฐวุฒิ วงศ์ไชยวรรณ (การตรวจสอบสัญญาณชีพแบบไม่สัมผัสโดยใช้คลื่นเรดาร์ระดับมิลลิเมตร)”
การสร้างเครือข่ายความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของ สจล.ที่ต้องการเป็นฐานแห่งนวัตกรรมระดับโลก (The World Master of Innovation) เป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมด้วยสมรรถนะศักยภาพสูงตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและแข่งขันได้ในประชาคมโลกต่อไป
สอบถามรายละเอียด:
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
Website : https://engineering.kmitl.ac.th
FB : School of Engineering, KMITL
Tel : Call center 02-329-8301
สอบถามรายละเอียด:
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
Website : https://engineering.kmitl.ac.th
FB : School of Engineering, KMITL
Tel : Call center 02-329-8301
ไม่มีความคิดเห็น