Breaking News

“รมว.สุดาวรรณ” ประธานเปิดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดอย่างยิ่งใหญ่ โชว์ 26 ริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติวิจิตรงดงาม ตระการตากับการแสดงโดรนเฉลิมพระเกียรติ 1,200 ลำ แปรขบวนแสดงพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขพสกนิกรชาวไทย ชวนชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ดนตรีไทย - สากลเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการ - สวนแสง และชิม ช้อปอาหาร - ผลิตภัณฑ์ตลาดวัฒนธรรม 11 - 15 ก.ค.นี้ ณ ท้องสนามหลวง

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.30 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้แทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีคณะรัฐมนตรีได้แก่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ วัฒนธรรมจังหวัด76 จังหวัด ผู้แทนหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เครือข่ายวัฒนธรรม แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี ณ ท้องสนามหลวง 



ทั้งนี้ ก่อนพิธีเปิดงานเวลา 17.30 - 19.30 น. มีกิจกรรมการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย ริ้วขบวน 26 ขบวน ซึ่งมีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ ผู้แทนภาคเอกชนและประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมกว่า 3,000 คน ได้แก่ ขบวนที่ 1 วงดุริยางค์ 4 เหล่า ขบวนที่ 2 ขบวน ธงชาติ ธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ วปร. และธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ขบวนที่ 3 4 เหล่า ประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ขบวนที่ 4 บุคลากรกระทรวงวัฒนธรรม ขบวนที่ 5 รถเฉลิมพระเกียรติฯ กระทรวงวัฒนธรรม ขบวนที่ 6 รถเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมบุคลากร ขบวนที่ 7 หน่วยงานราชการ 16 กระทรวง




ขบวนที่ 8 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคเหนือ ขบวน “มณฑลอุดรทิศ ดินแดนสามธรรม เทิดไท้องค์ราชัน” ประกอบด้วยการฟ้อนกิงกะหร่า ตุง โคม จำลอง “พระธาตุพระสิงห์” พระธาตุประจำปีมะโรง เป็นปีพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ (องค์จำลอง) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ การสาธิตปั่นฝ้าย การแสดงฟ้อนขันดอก ฟ้อนเล็บและตีกลองสะบัดชัย 

ขบวนที่ 9 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวน “ตุ้มโฮม ฮอยฮีต ศรัทธา พญานาคา นาคี สดุดีองค์ราชัน” ประกอบด้วยขบวนอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมเครื่องราชสักการะ พญานาค ขบวนแห่นางอัปสรา ขบวนชุดผ้าไทยประจำจังหวัดและอัตลักษณ์ 20 จังหวัด ขบวนธุง ฟ้อนรำกลองยาว หมอลำเพลินและกลองยาว

 ขบวนที่ 10 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคกลางและภาคตะวันออก ขบวน “มัชฌิม บูรพา ปวงประชาเทิดไท้องค์ราชัน” ประกอบด้วย ขบวนชุดลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด 25 จังหวัด รถบุปผชาติเฉลิมพระเกียรติจำลองโบราณสถาน        ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช้างเอราวัณอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา รำแตรวงและการแสดงพื้นบ้านหนังใหญ่ รำกลองยาว ขบวนอัตลักษณ์พหุวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ภาคกลางและภาคตะวันออกและการละเล่นกระตั้วแทงเสือ 

ขบวนที่ 11 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคใต้ ขบวน “พหุวัฒนศิลป์ถิ่นปักษ์ใต้ ปวงประชาเทิดไท้องค์ราชัน” ประกอบด้วยมีขบวนเครื่องราชสักการะ ขบวนแต่งกายประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และขบวนพหุวัฒนธรรม ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมลายู ชาวไทยจีน ขบวนไหว้พระจันทร์ และขบวนเฉลิมพระเกียรติที่มีนกบุหรงซีรอ (นกสิงห์) ทำเป็นเรือเตียงมัส บุหงาซีเระ (พานบายศรี) 9 ชั้นและว่าวเบอฮามัส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ตามความเชื่อของชาวไทยมลายู เทริดโนราและการแสดงรำมโนราห์

ขบวนที่ 12 กลุ่มชาติพันธุ์ ขบวนที่ 13 รถเฉลิมพระเกียรติฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขบวนที่ 14 รถเฉลิมพระเกียรติฯ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กรอ.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ขบวนที่ 15 รถเฉลิมพระเกียรติฯ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 16 รถเฉลิมพระเกียรติฯ กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี ขบวนที่ 17 รถเฉลิมพระเกียรติฯ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ขบวนที่ 18 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  ขบวนที่ 19 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ขบวนที่ 20 รถเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารออมสิน ขบวนที่ 21 องค์การศาสนา 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ – ฮินดูและซิกข์ ขบวนที่ 22 องค์กร เครือข่าย คนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขบวนที่ 23 บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 

ขบวนที่ 24 บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ขบวนที่ 25 สมาพันธ์สตรีทำความดีแห่งประเทศไทย และขบวนที่ 26 สมาคมเยาวชน  จิตอาสาพัฒนา โดยเส้นทางเดินริ้วขบวนเริ่มจากบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ไปยังท้องสนามหลวง




ก่อนพิธีเปิดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนรับชมริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ และการแสดงศิลปวัฒนธรรม หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นประธานพิธี ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนและผู้ร่วมงานร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีจอมราชา หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมชมนิทรรศการเฉลิม พระเกียรติ ต่อมาเวลา 19.30 น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ        28 กรกฎาคม 2567 โดยในพิธีเปิดมีการแสดง รำถวายพระพร ชุด เทพรังสฤษฏ์ จตุรพิธถวายพระพร และการแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ  จำนวน 1,200  ลำ แปรขบวนแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร” ตามแนวคิดภายใต้ร่มพระบารมี ปวงประชาจงรักภักดี  



นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ภายในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯมีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ได้แก่ 1) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 



“ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” เผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและน้อมสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณ  2) จัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ “มหาทศมินทรราชา” และการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ แบ่งเป็น 2 เวที คือ เวทีกลาง จัดแสดงวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.30 - 22.00 น. วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 การแสดง “มหาดุริยางค์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” และการแสดง “โนราศิลปินแดนทักษิณเฉลิมพระเกียรติ” วันที่ 12 กรกฎาคม 2567  การแสดงดนตรี “นาฏะ ดนตรี คีตา” การแสดงโขน “สมเด็จพระรามาครองเมือง” การแสดงพื้นบ้าน “เรืองรองสุขเกษมทั่วถิ่นไทย” วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “เทิดไท้องค์ราชัน พระมิ่งขวัญ ปวงชนชาวไทย” การแสดงละครนอก ตอน ถวายลูกแก้วหน้าม้า การแสดง “มหานาฏกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ” โดยไทยร่วมกับ 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “มหาดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ” เป็นการแสดงร่วมกันของกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การแสดงดนตรี “สดับคีตศิลป์ทศชาติชาดก” (10 พระชาติชาดก เฉลิมพระเกียรติ) และการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา” และวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 การแสดง “สิงโตบนเสาดอกเหมยเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” การแสดง”มังกรเบิกฟ้า 72 พรรษามหามงคล ใต้ร่มบรมโพธิสมภาร” บริเวณหน้าเต็นท์นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงดนตรี”แผ่นดินธรรมแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี” เป็นการแสดงร่วมกันของ 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยรังสิต การแสดงนาฏศิลป์โขนสดใต้ร่มพระบารมีตอน ศึกทศกัณฐ์ยกรบ และตอน ยักษ์บรรลัยกัลป์ออกศึก การแสดง “ศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน” และการแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1,200 ลำ ซึ่งแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด ปวงประชาแซ่ซ้องสรรเสริญ”

  นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในส่วนเวทีย่อย จัดแสดงวันที่ 12 - 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 17.00-18.30 น. ได้แก่ การแสดงพื้นบ้านจากเครือข่ายสมาคมศิลปินพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดงหนังตะลุงคน ชุด “หนังตะลุงปักษ์ใต้ เทิดไท้องค์ราชัน” การแสดงหมอลำ ชุด “รำถวายเกล้าไทยอีสาน ศิระกานจอมจักรี”การแสดงโนรา ชุด “โนราสู่ภูมิปัญญาเทิดไท้องค์ราชัน” และการแสดงพื้นบ้านอีสาน ชุด “เทิดพระเกียรติพระแผ่นฟ้า 72 พรรษา             มหาบารมี” วงดนตรีลูกทุ่งชิงช้าสวรรค์ โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพฯ รำวงชาวบ้าน อ๊อด โฟร์เอส การแสดง “หุ่นละครเล็กราชภัฏพระนครเทิดไท้องค์ราชัน” บริเวณหน้านิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การแสดง “ลีลาศ 772 คู่ขวัญเทิดราชัน 72 พรรษามหาวชิรลงกรณ” บริเวณถนนกลางสนามหลวง และการแสดงของศิลปินพียว The voice  เปาวลี พรพิมลและนิวคันทรี่ และทุกวัน ตั้งแต่เวลา 15.00 - 18.00 น. มีการแสดงว่าวเฉลิมพระเกียรติ เช่น ว่าวจุฬา ว่าวสาย ว่าวสามเหลี่ยม รวมกว่า 100 ตัว โดยนายปริญญา สุขชิต หรือ “ซุปเปอร์เป็ด” ที่เป็นผู้สืบสานและนักเล่นว่าวไทยระดับชาติ อีกทั้งภายในงานมีตลาดวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของดีสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร อาหารไทย อาหารถิ่น และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ การสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แก่ นวดไทย ลงรักปิดทอง มาลัยจากกระดาษทิชชู่ จัดดอกไม้ แกะสลักผัก ผลไม้ ดินปั้น เขียนลายคราม การทำเครื่องหอมสมุนไพรและผ้าปักเชียงราย

 ทั้งนี้ ชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเข้าร่วมชมงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารเฉพาะกิจให้บริการรับ - ส่งประชาชนเดินทางมาร่วมงานฟรี  ระหว่างวันที่ 11 - 15 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น. จำนวน 5 เส้นทาง  ได้แก่ 1.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ฝั่งเกาะพญาไท)-สนามหลวง 2. สายใต้ใหม่-สนามหลวง 3. หมอชิต - สนามหลวง 2  4.วงเวียนใหญ่-สนามหลวง 5.สนามหลวง - ท่าช้าง - ท่าเตียน (เดินรถวงกลม) โดยมีจุดจอดรับ - ส่ง บริเวณหน้าศาลฎีกา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765


ไม่มีความคิดเห็น