Breaking News

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสบศ. ประจำปีการศึกษา 2566 วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี  ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีการศึกษา 2566 โดยโอกาสนี้มีผู้ทรงวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ จำนวน 6 คน ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ทั้งบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2566 รวมทั้งสิ้น 702 คน

สำหรับผู้ทรงวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ 6 คน ประกอบด้วย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 4 คน ได้แก่ 1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณปริญญา ตันติสุข ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ 2. รองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย 3. นางศรีเวียง จิ๋วพัฒนกุล ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา 4. นายสิทธิพงษ์ โทไข่ษร ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 2 คน ได้แก่ 1. นายจำลอง ม่วงท้วม ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา 2. นายเฉลิม ทองลมูล ศิลปมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย




รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีหน่วยงานในสังกัด จำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานอธิการบดี คณะศิลปนาฏดุริยางค์ คณะศิลปศึกษา คณะศิลปวิจิตร วิทยาลัยนาฏศิลป จำนวน 12 แห่ง และวิทยาลัยช่างศิลป จำนวน 3 แห่ง จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิชาชีพเฉพาะ ถึงระดับปริญญาเอก เป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางที่มุ่งผลิตบัณฑิตด้านนาฏศิลป์ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์ ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จัดการเรียนการสอน การแสดง การวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ ทะนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชน ในท้องถิ่น ปลูกฝังและบ่มเพาะจนสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นนักปฏิบัติที่มีความรู้ภาคทฤษฎี และมีความเชี่ยวชาญในภาคปฏิบัติ ผู้สำเร็จการศึกษาย่อมต้องยึดมั่นในครรลองที่ดีงาม ควบคู่ไปกับการใช้วิชา ความรู้ที่ได้รับจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เพื่อการพัฒนาตนเอง สังคมและประเทศชาติให้มีความมั่นคงยั่งยืนสืบไป”  

ไม่มีความคิดเห็น