Breaking News

"สุขทันที ที่เที่ยวเมืองเพชรฯ"

 ระหว่างวันที่ 27-29สิงหาคม2567ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเพชรบุรีได้นำคณะผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวและสื่อมวลชนลงพื้นที่ ในโครงการ Mega FAM Trip 2024 ครั้งที่ 3 จุดหมายปลายทางคือแหล่งท่องเที่ยวในจ.เพชรบุรี

วันแรกของการเดินทาง เริ่มต้นออกเดินทางจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท)สำนักงานใหญ่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ เดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรีโดยมีนายนิติ วงษ์วิชาสวัสดิ์ผู้อํานวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท)สำนักงานเพชรบุรีคอยให้การต้อนรับและนำชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย 

คุณนิติ วงษ์วิชาสวัสดิ์ผู้อํานวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท)สำนักงานเพชรบุรี

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่คณะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและสื่อมวลชนแวะเข้าเยี่ยมชมในวันแรกก็คือจุดที่1.พระนครคีรีหรือเขาวัง เขาวัง สัญลักษณ์แห่ง เมือง เพชรบุรีมารู้จักเขาวังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี พระนครคีรี หรือทางการเรียกว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี แต่คนท้องถิ่นจะเรียกกันว่า เขาวัง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี ที่ตั้งอยู่ ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี ก็จะเห็น เขาวัง นั่นเอง เขาวัง ถือว่าเป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงกว่า 92 เมตร ในหลวงรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างพระราชวังสําหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ เลยให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง จนสร้างสําเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2403 และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า พระนครคีรี แต่ชาวเพชรบุรีนิยมเรียกกันติดปากว่า เขาวังจนมาถึงในปัจจุบัน





บนเขาวัง นั้นจะมีทั้งพระที่นั่งพระตําหนัก วัด และ กลุ่มอาคารต่างๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกแบบนีโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมแบบจีนโดยภูเขายอดกลาง เป็นที่ตั้งของ พระธาตุจอมเพชรฝั่งทิศตะวันออกจะเป็นวัดมหาสมณารามภายในโบสถ์ฝาผนังทั้งสี่ด้านจะมีภาพเขียนฝีมือขวัวอินโข่ง ซึ่งเป็นจิตรกรไทยคนแรกตกแต่งไว้อีกด้วย นอกจากนี้ก็มีวัดพระแก้วหรือวัดพระแก้วน้อย ที่มีเจดีย์แดงเป็นไฮไลท์ในส่วน ด้านทิศตะวันตกจะมีทั้งพระที่นั่งสันถาคารสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา และ หอชัชวาลเวียงชัย เรียกได้ว่าเที่ยวกันได้วันเลยทีเดียว ส่วนการเดินทางขึ้นไปบนเขาวังนั้นสามารถเดินขึ้นไปเองหรือจะนั่งรถรางไฟฟ้าก็ได้เช่นกัน




นอกจากนี้เขาวังยังมีการจัดงานเทศกาลในทุกๆ ปี ที่จะมีงานเฉลิมฉลองพระนครคีรี ที่นี่จะคึกคักสุดๆไปเลย เพราะมีทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ และการจุดพลุดอกไม้ไฟในตอนกลางคืนโดยจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ในทุกๆ ปีรวมเวลากว่า10วัน10คืน


 

ที่อยู่ : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ( เขาวัง ) 97 ถนนคีรีรัถยา ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
พิกัด : https://goo.gl/maps/cDoW9x3iynn9Rpv39
เปิดให้เข้าชม : 08.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 60 บาท ต่างชาติ 190 บาท (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี และค่ารถรางไฟฟ้า)
โทร : 0-3242-5600 เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Phranakornkhiri

จุดที่ 2 วัดมหาธาตุวรวิหาร 
เป็นหนึ่งในวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดเพชรบุรีและเป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เนื่องจากมีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยนั้นจำนวนมากภายในบริเวณวัด และน่าจะเป็นพระอารามหลวงมาก่อน ทว่าได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการบูรณะวัดนี้ขึ้นอีกครั้งและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2459







ปัจจุบันวัดมหาธาตุวรวิหาร ถือเป็นแหล่งรวบรวมผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านพระอุโบสถและรายละเอียดต่าง ๆ ภายในมากมาย โดยสิ่งที่น่าชมได้แก่ พระวิหารหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปประธานทรงราชาภรณ์ นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 8 นิ้ว หัตถ์ซ้ายถือพัดที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อวัดมหาธาตุ ส่วนภายในพระวิหารหลวงนั้น ผนังทุกด้านมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามทั้งภาพชาดกและเทพชุมนุม ที่หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น รูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค มีพญาวานรแบกครุฑอยู่อีกชั้นหนึ่ง พื้นหลังเป็นลายกนกก้านขด ดอกช่อลายหางโต เป็นรูปครุฑ นาค ยักษ์ ฯลฯ - พระวิหารน้อย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาโดยมีฐานอ่อนโค้งทรงสำเภา ตั้งอยู่ระหว่างพระวิหารหลวงกับพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่ออู่ทอง ศิลปะแบบอู่ทอง ปางมารวิชัย บนฐานมีลายปูนปั้นและประดับกระจกสวยสดงดงาม และลวดลายปูนปั้นนี้ถือเป็นมุขตลกของช่างที่ต้องการสร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้พบเห็น ด้วยการแกะเป็นหน้าของบุคคลสำคัญที่เรารู้จักกันดี เช่น รูป ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีแบกฐานพระ เป็นต้น - พระปรางค์ 5 ยอด เป็นสัญลักษณ์สูงตระหง่านในเขตพุทธาวาสสามารถมองเห็นได้แต่ไกลทั้ง 4 ทิศ วัดจากฐานถึงยอดนภศูลได้ 55 เมตร รอบฐานยาว 120 เมตร มีอายุราว 1,000 กว่าปี ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณรอบพระปรางค์มีระเบียงคตเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ในระเบียงคตมีพระพุทธรูปจำนวน 193 องค์ประดิษฐานบนระเบียง พร้องทั้งมีตัวแบกที่ฐานพระ ส่วนมากตั้งอยู่ใต้องค์พระพุทธรูปทรงเครื่องไว้สวยงาม พระพุทธรูปส่วนใหญ่ เป็นศิลปะอยุธยาตอนปลายและเป็นผลงานของสกุลช่างเมืองเพชรซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามมาก การเดินทาง จากสามแยกศาลหลักเมืองเพชรบุรี เลี้ยวขวา ถึงแยกสัญญาณไฟจราจรเลี้ยวซ้าย ตรงมาเข้าถนน ราชวิถี ผ่านสามแยกอาชีวศึกษา ตรงไปถึงสี่แยก เลี้ยวขวา ๗๐๐ เมตร ผ่านสี่แยกสัญญาณไฟจราจรวัดจะอยู่ขวามือ
จุดที่ 3.วัดใหญ่สุวรรณรามวรวิหาร 
ชมความคลาสสิกของวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากหลักฐานตามพระราชหัตถเลขา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า "ภาพและลายในพระอุโบสถนี้คงเขียนมาก่อน 300 ปีขึ้นไป"





โดยภาพเป็นภาพพระพุทธประวัติ ภาพเทพชุมนุมเรียงรายกัน 5 ชั้น บานหน้าต่างเป็นภาพทวารบาล ประตูเป็นภาพชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยา และพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานท้องพระโรงหลังหนึ่งเป็นไม้สักทั้งหลังเพื่อให้สร้างเป็นศาลาการเปรียญ ซึ่งมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และคุณค่าของศิลปกรรมในสมัยอยุธยา บานประตูแกะสลักเป็นลวดลายกระหนก ก้านขดปิดทองงดงาม และธรรมาสน์เป็นบุษบกแกะสลักลงรักปิดทอง ภายในวัดประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงาม ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปซึ่งช่างได้สร้างให้นิ้วพระบาทมี 6 นิ้ว และพระคันธารราษฎร์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้อัฐเชิญมาประดิษฐาน นอกจากนี้ มีหอไตรทรงเรือนไทยเก็บพระไตรปิฎกตั้งอยู่กลางน้ำ พระปรางค์ลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง ทั้งสี่ด้านขององค์ปรางค์เป็นซุ้มปูนปั้น โดยด้านล่างเป็นรูปฤาษีอยู่ในซุ้ม ส่วนด้านบนเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานในซุ้ม ต่อมาได้มีการสร้างหอไตรเป็นทรงไทยสองชั้น มีระเบียงรอบ หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นลายกระหนกก้านขดและเทพพนม หอระฆัง ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นสวยงาม เหตุที่ได้ชื่อว่าวัดใหญ่นั้น น่าจะมาจากพื้นที่ของวัดซึ่งมีขนาด 20 ไร่เศษ ส่วนคำว่า “ สุวรรณ” น่าจะได้มาจากพระนามของสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ซึ่งเดิมท่านชื่อ ทอง หรืออาจเป็นนามฉายาของท่านว่า สุวณฺณ ก็ได้ เพราะท่านคือผู้ที่ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญให้กับวัด อันเป็นสถานศึกษาเดิม และวัดนี้จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัดใหญ่สุวรรณารามในท้ายที่สุด ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ยกวัดใหญ่ฯ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง
วันที่2 ของการเดินทาง
จุดที่ 4 ถ้ำรงค์ 





สำหรับชุมชนถ้ำรงค์ ตำบลถ้ำรงค์อันเป็นที่ตั้งของถ้ำรงค์ เป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งตำนานเล่าว่า เจ้าเมือง เมืองหนึ่งเสด็จประพาสมาที่ตำบลนี้ ต่อมามีหญิงสาวชาวบ้านนำน้ำใส่ขันและมีใบหญ้าคาลอยอยู่มาถวาย เจ้าเมืองได้พระราชทานธำมรงค์ (แหวน) เป็นการตอบแทน ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชุมชนนี้ว่า “บ้านธำรงค์” และกลายมาเป็น “ถ้ำรงค์” มาจนทุกวันนี้ ชาวตำบลถ้ำรงค์รวมตัวกันอนุรักษ์การดำเนินชีวิตทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับตาลโตนด ด้วยศักยภาพของชุมชนแห่งนี้จึงได้ รับเลือกเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเรียนรู้ เมื่อปี พ.ศ. 2544 ภายในพื้นที่มีจุดท่องเที่ยว ได้แก่ วัด ถ้ำรงค์ มีอุโบสถลวดลายปูนปั้นงดงามฝีมือช่างเมืองเพชร ถ้ำรงค์ ประดิษฐาน หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่ชุมชน แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด หรือ สวนตาลลุงถนอม ปลูกตาลเรียงเป็นแนวเหมือนสวนผลไม้ โดยตั้งใจอนุรักษ์ต้นตาลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเพชรบุรีที่นับวันจะน้อยลงไป บ้านยีโตนด ทำขนมตาล และเคี่ยวน้ำตาล สืบสานตาลเมืองเพชร ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่ที่มีกลุ่มผู้สูงอายุสานใบตาลเป็นรูปทรงต่าง ๆ หมู่บ้านสานไผ่ เป็นการนำไม้ไผ่สานเป็นเครื่องใช้นานาชนิด วัดม่วงงามและพิพิธภัณฑ์ของเก่า จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้วิถีชีวิตในอดีตของชุมชนนี้ ชุมชนบ้านรงค์ได้รับรางวัลด้านการสร้างความปลอดภัยการจราจรบนถนนของชุมชน และได้ผนวกจัดเป็นเส้นทางขี่จักรยานท่องเที่ยวที่จะได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศชุมชน และเรียนรู้คุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น นักท่องเที่ยวที่สนใจชมการปีนตาล เคี่ยวตาลโตนด การทำอาหารและขนมหวานที่ใช้ผลิตผลจากต้นตาล ชมสวนชมพู่เพชรสุพรรณ และทับทิมจันทร์ โดยมีรถบริการพร้อมมีวิทยากรบรรยาย


สอบถามข้อมูลได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์ โทร. 0 3249 1467, 08 9822 5362 การเดินทาง จากอำเภอเมืองเพชรบุรีไปตามถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 176-177 เข้าทาง วัดถ้ำรงค์ หรือจากอำเภอบ้านลาดใช้ทางหลวงหมายเลข 6020 เข้าถนนโยธาธิการเพชรบุรี หมู่ที่ 3 ไปทางตำบลท่าเสน ประมาณ 14 กิโลเมตร
จุดที่ 5 สวนตาลลุงถนอม
จากการขยายตัวของชุมชนส่งผลให้ต้นตาลที่เคยมีอยู่เต็มหัวไร่ปลายนาในพื้นที่เมืองเพชรฯ พลอยถูกตัดโค่นทิ้งไปด้วย ลุงถนอม ภู่เงิน(ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) อดีตกำนัน ต. ถ้ำรงค์ ใน อ. บ้านลาดเห็นว่าหากปล่อยไว้อนาคตของต้นตาลและอาชีพทำน้ำตาลโตนด อัตลักษณ์ของเมืองเพชรฯ อาจสูญหาย ประกอบกับเห็นโทษของการทำเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมี ลุงถนอมจึงใช้พื้นที่10ไร่ที่มีอยู่ปลูกต้นตาลจำนวน 450 ต้นตั้งแต่ปี 2534 ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันว่าลุงเสียสติถัดมาอีก 12 ปี ต้นตาลชุดแรกก็ให้ผล หยั่งรากอย่างมั่นคง สมบูรณ์แข็งแรงจนครบทั้ง 450 ต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน







นอกจากเป็นที่ดินทำกินของครอบครัวซึ่งยึดอาชีพทำตาลโตนดและผลิตภัณฑ์อื่นซึ่งเป็นผลพลอยได้จากต้นตาล ที่นี่ยังเป็น “ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด” โดยมีลุงอำนาจ ภู่เงินลูกชายของลุงเป็นผู้ให้ข้อมูลตั้งแต่ความเป็นมาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การปลูก ดูแลรักษา การขึ้นตาล ไปจนถึงการทำน้ำตาลโตนด ลุงอำนาจ ภู่เงิน ลูกชายของลุงถนอมผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นผู้ดูแลสวนและเป็นปราชญ์ชาวบ้านจะเป็นวิทยากรแนะนำสาธิต และให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ทดลองทำด้วยตัวเอง กระบวนการผลิตน้ำตาลสดของที่นี่เริ่มจากการปีนขึ้นไปเก็บน้ำตาลสดจากงวงต้นตาลที่ไหลลงกระบอกไม้ไผ่ นำลงมาเทผ่านผ้าขาวบางกรองให้สะอาดใส่ในกระทะใบบัว จากนั้นเคี่ยวด้วยความร้อนจนน้ำค่อยๆ ระเหยทีละน้อย เคี่ยวไปชิมไปจนได้ระดับความหวานที่ต้องการ แล้วกรอกลงขวดนำไปนึ่งอีกราวครึ่งชั่วโมงเป็นอันเสร็จและหากเคี่ยวน้ำตาลสดนั้นต่ออีกราว 2 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำตาลโตนดหอมมันแบบที่เรียกว่า “น้ำตาลเมืองเพชร” ที่นี่จึงมีทั้งน้ำตาลสดน้ำตาลโตนด ลูกตาลเฉาะสดใหม่ รวมถึงลูกตาลลอยแก้วและขนมตาล ให้ชมการผลิตอย่างใกล้ชิด และให้ชิมหรือซื้อกลับบ้านอีกด้วย
จุดที่ 6 วัดชะอําคีรี
วัดที่คณะของเราจะเดินทางไปกันต่อไปก็คือ วัดชะอําคีรี ตั้งอยู่ที่ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดเก่าแก่หลายร้อยปี แต่ไม่ปรากฏปีที่สร้างอย่างชัดเจนอยู่เคียงคู่กับชุมชนชะอำมาอย่างยาวนานมากๆมีไฮไลท์อยู่ที่พระอุโบสถที่รูปทรงสวยงามและสูงมากๆส่วนทางขึ้นเขานั้นจะเป็นบันไดพญานาคสีทองอร่าม จุดไฮไลท์ของ วัดชะอําคีรี กันบ้าง จะเป็นบันไดที่ตกแต่งด้วยพญานาคทอดยาวขึ้นไปบนเขาดูแล้วสวยงามมาก เหมือนเดินขึ้นไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง เรียกได้ว่าเดินเพลินๆไม่เหนื่อยมากครู่เดียวก็จะถึงฆ้องใบใหญ่ที่อยู่ด้านบนจากนั้นต้องไปชมภายในถ้ำที่ประดิษฐาน พระประธานและพระนอนเอาไว้ว่ากันว่าถ้ำแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะสังเกตได้จากลักษณะของพระพุทธรูปที่คล้ายกับหลวงพ่อโตของวัดใหญ่ชัยมงคลนั่นเอง อีกทั้งรอบๆถ้ำยังตกแต่งด้วยปูนปั้นใบหน้าของเทพ เทวดา,ยักษ์ต่างๆด้วย








ข้อมูล วัดชะอําคีรี เพชรบุรี
ที่อยู่ : ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
เปิดให้เข้าชม : สามารถเข้าชมได้ตลอดทั้งวัน
วันที่ 3 ของการเดินทาง
จุดที่7 วัดถ้ำแจง 
ตั้งอยู่ที่ ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยพระมหา ดร.วิชัย เตชธมฺโม เจ้าอาวาสวัด ได้จัดสร้างพ่อปู่พญาเพชรคีรี มหามุนี ศรีสุทโธนาคราช แห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูงราว 31 เมตร ลำตัวเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 2 เมตร ความยาวลำตัวรูปยันต์อุนาโลม มีช่องลอด 9 ช่อง ยาว 227 เมตร มีลักษณะสีนิลปาล หรือสีเขียวปีกแมลงทับมีมิติ เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อนในรูปแบบโครงสร้าง ลวดลายที่ละเอียดอ่อนงดงาม การลงสีสันให้ออกมาสวยงามและอลังการมาก


จุดที่ 8 บูชาท้าวเวสสุวรรณ วัดสำมะโรง เพชรบุรี
วัดสำมะโรง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายตั้งอยู่ใน ต.สำมะโรง อ.เมือง จ.เพชรบุรี มีการสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยพระเจ้าทรงธรรมช่วงครองราชของกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2153 จากหลักฐานที่ค้นพบเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งพอที่จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า วัดสำมะโรงมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากเช่นกัน









สิ่งที่มีชื่อเสียงที่ปรากฎในวัดสำมะโรงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ “ท้าวเวสสุวรรณไม้จันทน์หอม” องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประดิษฐานอยู่ในหอพระของวัด องค์ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้ แกะสลักจากไม้จันทน์หอมทั้งองค์ มีขนาดความสูง 32 เซนติเมตร อายุกว่า 400 ปี เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยบริเวณรอบวัด มีสิ่งน่าสนใจอื่นๆ อาทิ อุโบสถเก่าแก่ศิลปะสมัยอยุธยา ศาลาท่าน้ำ เจดีย์ทรงระฆัง และเจดีย์ทรงปรางค์ เป็นต้น ถือได้ว่าวัดสำมะโรง จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็ว่าได้
จุดที่ 9 ธนาคารปูแหลมผักเบี้ย 
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเมืองเพชร ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้ถูกฟื้นฟูโดยชาวประมงกลุ่มหนึ่ง เริ่มจากจุดเล็กๆ ทำแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย ที่ตั้งอยู่ด้วยความหวังของชุมชนชาวประมงในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์สู่ท้องทะเล เมื่อจำนวนเรือเพิ่มขึ้นและใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตสัตว์น้ำในช่วงก่อนปี 2551 ทำให้จับปลาได้เหลือเพียงวันละ 3-5 กิโลกรัม จนเรือบางลำต้องเลิกทำประมง แต่ด้วยความร่วมมือของชุมชนและเครือข่ายทะเลของแหลมผักเบี้ย จึงร่วมกันก่อตั้งธนาคารปูม้า กระชังเพาะเลี้ยงปลาทะเล และฟื้นวิถีการทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อทะเล








ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยที่แหลมผักเบี้ย
“หาดทรายเม็ดแรก” แหลมผักเบี้ย ที่นี่เป็นชายหาดแรกฝั่งอ่าวไทย ที่ต่อจากหาดโคลนของสมุทรสงคราม เป็นหาดทรายหาดแรกที่ยิงยาวๆ ไปภาคใต้ แหลมผักเบี้ยเป็น 1 ใน 10 ตำบลที่อยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นแหลมยื่นออกจากฝั่งไปในทะเลฝั่งอ่าวไทย โดยจะแยกระหว่างหาดทรายกับหาดโคลนออกจากกัน โดยทิศเหนือจะเป็นหาดโคลน ด้านทิศใต้เป็นหาดทราย สำหรับหาดทรายในตำบลแหลมผักเบี้ยนั้นเป็นหาดทรายจุดแรกของอ่าวไทยด้านซีกใต้ เนื่องจากการไหลลงของน้ำจืดจากปากแม่น้ำลงสู่อ่าวไทยของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางประกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี เมื่อตะกอนลงส่งทะเล ทำให้น้ำทะเลในช่วงนี้มีความขุ่นสูง จึงเป็นหาดโคลนและหาดทรายอยู่ติดกัน ทั้ง 2 นิเวศน์ ที่อยู่ในแหลมเดียวกัน มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางทะเลเป็นอย่างมาก



ธนาคารปูม้าและแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย
ที่อยู่: ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76100
ติดต่อเยี่ยมชม: นายอภิชัย เสริมศรี(วิน) โทร. 081-8576279

ไม่มีความคิดเห็น