คสคท.ชี้แจง ต่อคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง หาทางออก ผลกระทบร่างกฎกระทรวงฯ
(วันที่ 11 กันยายน 2567) นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ สันนิบาตสหกรณ์ฯ (สสท.) ได้รับมอบหมายจากนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. นำคณะเครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย (คสคท.) ประกอบด้วย 1. นายอุทัย ศรีเทพ ประธานเครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แห่งประเทศไทย (หัวหน้าคณะฯ) 2. นายสมพล ตันติสันติสม ประธานสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย 3.นายเกรียงศักดิ์ เนื้อสีจัน กรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย4. นายจำเริญ พรหมมาศ ประธานชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ภาคใต้ 5. นายสุภาพ จันทร์ภิรมย์ ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย 6. ดร.ธานี ก่อบุญ ผู้แทนชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ผู้ประสานงานงาน)ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ณ ห้อง N401 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา เพื่อพิจารณาหารือศึกษาแนวทางร่วมกันให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ....เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 คสคท. ยื่นหนังสือ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถอนร่างกระทรวงดังกล่าวเพื่อนำกลับมารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและแก้ไขปรับปรุงใหม่ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป และขอให้ยกเลิกระเบียบระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551
สืบเนื่องจากที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้ลงนามในหนังสือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ กษ 1115/5882 ลว. 5 มิถุนายน 2567 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติหลักการกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...เพื่อประกาศและถือใช้ และมีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรวมถึงสมาชิกสหกรณ์ โดยผลักดันให้สหกรณ์และสถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ ร้อยละ 4.75 และกำหนดมาตรการให้สมาชิกสหกรณ์มีเงินได้รายเดือนคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และเมื่อหักเงินกู้ได้ ร้อยละ 70 ต้องเฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ต่างๆ และสหกรณ์จังหวัด ตั้งคณะทำงานฯ ออกชี้แจงไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งให้ส่วนราชการผู้หักเงิน ถือปฏิบัติตามระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ซึ่งสาระสำคัญในระเบียบดังกล่าว มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ “ ผู้กู้ซึ่งมีรายได้รายเดือนจะต้องมีเงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30”
ณ ปัจจุบันข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้าราชการครูได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ส่วนราชการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 กล่าวคือเมื่อหักชำระหนี้แล้ว ต้องเหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อร 83/2567 และคดีหมายเลขแดงที่ อร 92 / 2567 สรุปว่า ผู้มีหน้าที่หักเงินได้รายเดือนในหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการไม่มีหน้าที่ดำเนินการหักเงินเดือน หรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว (เหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30) แต่อย่างใดโดยมีเหตุผลและสาระสำคัญดังนี้ 1. แม้ว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจะมีอำนาจออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว เพื่อใช้บังคับแก่ส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม แต่การออกระเบียบเช่นว่านั้นจะต้องนำไปประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ดังนั้นเมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่มีสภาพใช้อย่าง กฎ 2. เมื่อพิจารณาข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าว ยังขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการหักเงินเดือนข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และขัดแย้งกับข้อ 30 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้ทำหนังสือให้ความยินยอมของข้าราชการ หรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ที่ให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์โดยมีผลผูกพันตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น และก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยส่วนหนึ่งของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้เมื่อหักเงินชำระหนี้สหกรณ์แล้ว สมาชิกต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 เช่นกัน
ด้วยเหตุผลข้างต้น คสคท.จึงขอเรียกร้องให้ถอนร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน พ.ศ... และยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551ประกอบ คสคท. ประกอบกับ มีข้อสรุปร่วมกันว่าหากปล่อยผ่าน (ร่าง) กฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียน พ.ศ... ออกมาบังคับใช้อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด เนื่องจากมีการหยิบยกปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง และสหกรณ์อื่นๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องคนไม่ใช่ระบบ ควรที่จะต้องจัดการเป็นรายสหกรณ์ไม่ควรอย่างยิ่งจะทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนทั้งหมดเกิดปัญหาตามมาด้วย ซึ่งสหกรณ์ส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้ดีไม่เกิดปัญหาแต่ประการใด อีกทั้งการกำหนดเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนทั้งหมดด้วยเกณฑ์เดียวกันแบบ One Size Fit All จะทำลายการเติบโตอย่างมั่นคงของระบบสหกรณ์ในระยะยาว สหกรณ์ที่ไม่มีปัญหาก็จะเกิดผลกระทบ การช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ หรือสหกรณ์อื่น ก็จะทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้นขัดต่อปรัชญาของสหกรณ์ที่ต้องการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซ้ำยังเป็นการผลักสหกรณ์เข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ความเป็นสหกรณ์จะเหลือไว้เพียงชื่อเท่านั้น การนำหลักเกณฑ์เช่นนี้มาใช้เปรียบเสมือนการบอนไซไม่ให้สหกรณ์เติบโต สิ่งที่ต้องแก้ปัญหาจึงไม่ใช่ระบบ แต่ต้องแก้ที่คนและการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น ขอให้ถอนร่างกฎกระทรวงฯ ออกไปก่อนเพราะการนำร่างกฎกระทรวงฯ ออกมาทบทวนโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างรัดกุม ก่อนนำไปบังคับใช้ ย่อมจะส่งผลดีต่อความมั่นคงและประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์ อันจะนำมาซึ่งการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงานสหกรณ์ในที่สุดเพื่อยังคงให้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ผลการประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯมี ดังนี้
1) ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ เห็นด้วยกับการถอนร่างกฏกระทรวงฯมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง 2) ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ เห็นด้วยกับการพูดคุยหาทางออกร่วมกันในแนวทางหักเงินชำระหนี้ของกระทรวงศึกษานอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ มีมติ 1) เห็นด้วยกับการถอนร่างกฎกระทรวงออกมาพิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กฎกระทรวงที่นำมาบังคับใช้แล้วส่งเสริมความมั่นคงและเข้มแข็งของสหกรณ์ 2) คณะกรรมาธิการการคลังฯ จะมีข้อเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการถอนร่างกฎกระทรวงฯ 3) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรและสหกร์ในการถอนร่างกฎกระทรวง4) เนื้อหากฎกระทรวงที่เปนผลกระทบให้พูดคุยกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจน จึงนำมาเป็นกฎกระทรวงอีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น