Breaking News

วธ.โชว์ Soft Power ศิลปวัฒนธรรมภาคอีสาน ศิลปินแห่งชาตินำทัพแสดงหมอลำ-เพลงโคราช ชมการแสดงกันตรึม โปงลาง โขน ลิเก ดนตรีลูกทุ่งงดงาม ตระการตาในงาน“มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย”ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5-9 ก.ย.นี้ ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา ชมงานศิลปะสตรีทอาร์ท ชิม-ช้อปอาหาร ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม หนุนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้สู่ชุมชน

 

วันที่ 6 กันยายน 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย“เศรษฐกิจวัฒนธรรมอีสานสร้างสรรค์”  โดยมี นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย สมาชิกวุฒิสภา นางเอมอร ศรีกงพาน สมาชิกวุฒิสภา นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐ จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนหน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายวัฒนธรรม ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา 






นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า  กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)มีนโยบายนำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทยเพื่อสนับสนุนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อน Soft Power การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมุ่งยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติเพื่อเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวของคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม  รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น วธ.จึงจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภาคเหนือที่จังหวัดพิษณุโลก  ภาคกลางและภาคตะวันออกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยทั้ง 3 ภูมิภาคจัดไปแล้วระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567  ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ  วิถีถิ่น วิถีไทย “เศรษฐกิจวัฒนธรรมอีสานสร้างสรรค์” วันที่ 5-9 กันยายน 2567 ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา 





ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ  วิถีถิ่น วิถีไทย “เศรษฐกิจวัฒนธรรมอีสานสร้างสรรค์”  มีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมโดยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน เด็กและเยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ประกอบด้วยการแสดงของเด็ก เยาวชนจังหวัดนครราชสีมา การแสดงเพลงโคราช ชุดเพลงโคราชปราชญ์วิถีถิ่นโดยคณะบุญสม กำปัง การแสดงแคนยาว คณะวงเงินแคนยาว บ้านขี้เหล็กใหญ่  จังหวัดชัยภูมิ  การแสดงหมอลำกลอนโดยชมรมหมอลำกลอนฟ้อนอีสานหลานย่าโม  จังหวัดนครราชสีมา การแสดงมินิคอนเสิร์ตลูกทุ่งอีสาน  ตัส ชนะชัย หนิงๆคำพะนาง จังหวัดกาฬสินธุ์ การแสดงหมอลำประยุกต์  โดยนางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ศิลปินแห่งชาติ การแสดงขับร้องเพลงเต๋า ภูศิลป์ การแสดงหมอลำ คณะขวัญใจแฟนแฟน แมน จักรพันธ์  จังหวัดขอนแก่น การแสดงโปงลางโดยคณะวงโปงลางเมืองแสนล้านช้าง จังหวัดร้อยเอ็ด 





ขณะเดียวกันมีการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุด พระรามราชสุริยวงศ์ โดยวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมาและวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด การแสดงหมอลำโดยนางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ การแสดงกันตรึมโดยสมาคมศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้ การแสดงเพลงโคราชโดยนายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (กำปั่น บ้านแท่น) ศิลปินแห่งชาติและสมาคมเพลงโคราช จังหวัดนครราชสีมา  การแสดงโปงลางสายแนนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา การแสดงวงดนตรีลูกทุ่ง โรงเรียนเทศบาล 4 เพาะชำ จังหวัดนครราชสีมา การแสดงลิเก คณะกล้วยหอมบรรจงศิลป์ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ มีกิจกรรมการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “จอมพล   คนกันเอ๋ง”  Graffiti on Street  Street Art and Food และ Lighting & Sound และการแสดงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ บริเวณถนนจอมพล  การจำหน่ายอาหาร ของดีโคราช การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

“งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยทั้ง 4 ภูมิภาค ทำให้คนไทยแต่ละภาคได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและเสริมพลังความเข้มแข็งของสถาบันหลักของชาติ  ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น  สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย เพิ่มบทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่นให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ทำให้เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และร่วมสืบสานอนุรักษ์ไว้ นำทุนทางวัฒนธรรมไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ และเสริมฐานรากวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน” นางยุพา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น