Breaking News

กระทรวงวัฒนธรรม เชิญชวนทุกภาคส่วนจัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2567เน้นแนวคิด “ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” สืบสานคุณค่าสาระวัฒนธรรมไทยผลักดัน Soft power เทศกาล สู่ World Event หมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก...

 

(วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2567 เวลา 14.40 น.) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานแถลงข่าว การจัดกิจกรรมเนื่องในประเพณีลอยกระทง ประจำปี พุทธศักราช 2567 โดยมีนางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมงาน โดยมีผู้แทนหน่วยงานบูรณาการร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย  นายจิระพงษ์ คูหากาญจน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายไพรัชช์ ทุมเสน ผู้อำนวยการกองสร้างสรรค์กิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  พลตำรวจตรี พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว  พร้อมผู้แทนพื้นที่ 5 จังหวัดอัตลักษณ์...

   



นางเบ็ญจมาศ บุญเทพ วัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย  นายธวัชชัย อุบลพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่  นายสมศักดิ์ สาโดด วัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด  นางประสพสุข กันภัย วัฒนธรรมจังหวัดตาก  และ นางยลกานต์ เที่ยงแท้  ผู้อำนวยกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมแถลงข่าว  ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 




นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยในฤดูน้ำหลาก ซึ่งแก่นแท้ของประเพณี เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ การรู้คุณค่าของน้ำที่ใช้ในการดำรงชีวิตอันมีต้นกำเนิดจากแม่น้ำลำคลอง ด้วยเหตุนี้ ประเพณีลอยกระทง จึงถือว่าเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยอันงดงาม ปรากฏในรูปแบบของพิธีกรรม การประดิษฐ์กระทง การประดับประทีปโคมไฟในยามค่ำคืน การแสดงมหรสพ และการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ



เพื่อให้ภาพรวมงานลอยกระทงของประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมประเพณีลอยกระทง ได้แนวทางปฏิบัติในช่วงเทศกาลประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2567 ภายใต้แนวคิด “ลอยกระทง วิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ใน 3 ด้าน ดังนี้  “ลอยกระทง วิถีไทย” โดย 1.ขอให้ทุกภาคส่วนสร้างสรรค์กิจกรรมที่พัฒนาต่อยอดจากคุณค่าสาระของประเพณี
ลอยกระทงดั้งเดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ  2.จัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทง โดยเน้นเรื่องคุณค่าและสาระของประเพณี 3.ร่วมกันรักษาความสะอาดลำน้ำ และใช้กระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  4.สนับสนุนให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงในทุกระดับ 5.สร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนเกี่ยวกับประเพณี มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ 6.สื่อสารให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีลอยกระทงให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน  7.สนับสนุนให้ประชาชนใช้สื่อโซเชียลมีเดียเผยเพื่อแพร่ภาพกิจกรรมลอยกระทงสร้างการรับรู้ให้ชาวต่างชาติ
และเน้นด้าน “ปลอดภัย” ได้แก่ 8.รณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรและมาตรการความปลอดภัย  9.ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข  10.ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยต่างๆ  และด้าน “ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”  11.ร่วมกันกำจัดขยะและลดขยะตามแนวคิด Zero Waste เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และ 12.สื่อสารต่อประชาชนให้ตระหนักถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ การอนุรักษ์แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม..  

    นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม มีกำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2567 ในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงทางวัฒนธรรม เช่น สนุกกับการรำวงเพลงลอยกระทง 6 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สเปน โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ และมีศิลปินที่มีชื่อเสียงร่วมรำวงและขับร้องเพลงในงาน ได้แก่ สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ ศรราม น้ำเพชร มนต์สิทธิ์ คำสร้อย นัท มาลิสา ศิรินทรา นิยากร ผิงผิง วิน วศิน The Golden Song วงเทพบุตร รถแห่ และ น้องดินสอสี พนิดา เขื่อนจินดา นางสาวไทยประจำปี 2567 รวมทั้งการแสดงดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางอีสาน ชวนน้องหมูเด้งมาเต้นโปงลาง การจัดแสดงนวัตกรรมใหม่ลอยกระทงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลอยกระทง ด้วยระบบเทคโนโลยี Interactive การประชันวงดนตรีไทย การจัดแสดงองค์ความรู้คุณค่าสาระ ของประเพณีลอยกระทง การสาธิตอาหารไทย ขนมโบราณของชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนการจัดพิมพ์หนังสือประเพณีลอยกระทงและแผ่นพับประชาสัมพันธ์ฉบับนักท่องเที่ยว (คุณค่าสาระและ Do & Don’t) อีกด้วยโดยในส่วนภูมิภาค กระทรวงวัฒนธรรม ยังบูรณาการจัดงานใน พื้นที่ ๕ เมืองอัตลักษณ์ ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด และพื้นที่ ๘ เมืองน่าเที่ยว ได้แก่ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ และภูเก็ต รวมถึงส่งเสริมการจัดประเพณีลอยกระทงทุกจังหวัดทั่วประเทศ

โอกาสนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานประเพณีลอยกระทง ร่วมกันสืบสาน รักษา ประเพณีลอยกระทงให้คงคุณค่าความเป็นไทย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประเพณีลอยกระทงอันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็น Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลักดันประเพณีลอยกระทงให้เป็น World Event เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก และขอให้พี่น้องชาวไทย ร่วมงานประเพณีลอยกระทงอย่างมีความสุข สนุกสนานรื่นเริง เป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับชาวต่างชาติ ที่มาร่วมงานลอยกระทง ให้เกิดความประทับใจในประเพณีไทย และเห็นคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีไทย ต่อไป...

----------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น