Breaking News

“กระทรวงวัฒนธรรม สืบสานพระกฐินพระราชทานสู่งานพระราชพิธี”

 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชานุญาตให้กระทรวง กรม หน่วยงาน องค์กร คณะบุคคล และเอกชน ที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐิน เพื่อน้อมนำไปทอดถวายยังที่ชุมนุมสงฆ์ในเทศกาลกฐิน พุทธศักราช 2567 จำนวน 293 พระอาราม และวัดไทยในต่างประเทศ จำนวน 31 วัด ซึ่งในปี 2567 ได้กำหนดกฐินกาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2567 – วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 กำหนดเริ่มพระกฐินหลวงตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2567 และพระกฐินพระราชทาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2567 – วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567





กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้เปิดโอกาสให้กระทรวง กรม หน่วยงาน องค์กร คณะบุคคลและเอกชน ที่มีความประสงค์ขอรับพระกฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานผ้าพระกฐินพร้อมเครื่องบริวารพระกฐิน เพื่อน้อมนำไปทอดถวายยังพระอารามหลวงต่าง ๆ นอกเหนือจากพระอารามหลวงสำคัญที่ทรงสงวนไว้ จำนวน 18 พระอาราม



เนื่องจากปัจจุบันพระอารามหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง กรม และหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลทั่วไปที่สมควรขอรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรม เพื่อถวายพระราชกุศลตามกำลังศรัทธาของตนก็ได้ โดยกรมการศาสนาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดผ้าพระกฐินพระราชทานและบริวารพระกฐิน ให้แก่กระทรวง กรม หน่วยงาน ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลทั่วไปที่ขอรับพระราชทาน ประกอบด้วย 

1.ไตรจีวร 2.ผ้าห่มพระประธาน 3.เทียนพระปาติโมกข์ 4.ผ้าขาว 5. บาตรสแตนเลส พร้อมถลกบาตร 6.หมอนหนุนพร้อมปลอกสีเหลืองอ่อน 7. ผ้าห่มขนหนู 8. ผ้าแพรสีเหลืองอ่อน 9. ชุดโถข้าว 10. ชุดช้อน - ส้อม 11. ปิ่นโตคาว - หวาน 12. ชุดแก้วน้ำกระบะมุก 13. กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า 14. โคมไฟตั้งโต๊ะ 15. นาฬิกาปลุก 16. ไฟฉาย 17. ชุดสว่านไฟฟ้าไร้สาย 18. กล่องบรรจุเครื่องพระกฐินพระราชทาน เพื่อน้อมนำไปทอดถวายยังพระอารามหลวงต่าง ๆ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน การทอดกฐินแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ 

1. กฐินหลวงหรือพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้นำไปถวายพระอารามสำคัญ 18 พระอาราม โดยสำนักพระราชวัง เป็นผู้ออกหมายกำหนดการ 2. พระกฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพร้อมด้วยเครื่องบริวารพระกฐินซึ่งเป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคลและเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทาน อัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่าง ๆ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดหาผ้าพระกฐินพร้อมด้วยเครื่องบริวารพระกฐิน ปัจจุบันมีจำนวน 

293 พระอาราม และวัดไทยในต่างประเทศ จำนวน 31 วัด 3. กฐินทั่วไป หรือที่เรียกว่า “กฐินราษฎร์” เป็นการถวายผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความประสงค์จะนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดใดวัดหนึ่งที่เป็นวัดราษฎร์ (ไม่ใช่พระอารามหลวง)



การทอดกฐินเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่มีโอกาสทอดกฐินควรตั้งใจถวายด้วยจิตศรัทธา เชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ทอดกฐินได้รับความสุขความเจริญในชีวิต ทั้งในด้านความเป็นอยู่ หน้าที่การงาน และชีวิตความเป็นอยู่ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามสืบทอดกันมายาวนานของไทย ด้วยการทอดกฐิน ณ วัดทั่วประเทศ เพื่อสืบสานรักษาประเพณีอันดีงามของไทยถวายเป็นพุทธบูชา และร่วมส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป///

ไม่มีความคิดเห็น