Breaking News

วธ.ปัง ชุมชนปลื้ม เปิดคูหาออกร้านผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT ในงาน Sawasdee Seoul Thai Festival 2024 T-POP Story ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ โชว์เสน่ห์ Soft Power งานฝีมือไทย สาธิตการทำเครื่องประดับดินปั้นเขียนลายคราม และต่างหูใบบัวทองเหลือง ส่งเสริมการค้า ความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ อย่างยั่งยืน

 

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เข้าร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลไทย สวัสดีโซล ไทย เฟสติวัล 2024 : ทีป๊อป สตอรี่ (Sawasdee Seoul Thai Festival 2024 T-POP Story) ณ Cheonggye Plaza กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยมี นายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี และนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล กล่าวต้อนรับ ด้านกระทรวงวัฒนธรรมมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้แทน และมีนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย H.E. Sohn Jie-ae Ambassador for Cultural Cooperation กระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ เข้าร่วม

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า งานเทศกาลไทย สวัสดีโซล ไทย เฟสติวัล 2024 : ทีป๊อป สตอรี่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 6 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ Cheonggye Plaza กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 65 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - สาธารณรัฐเกาหลี เน้นนำเสนอสีสันและเสน่ห์อันหลากหลายของประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยรูปแบบใหม่ๆ ให้ชาวเกาหลีใต้ได้รู้จัก โดยไม่ทิ้งการนำเสนอทางวัฒนธรรมรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย แนะนำเสน่ห์ที่ไม่รู้จบของไทย เช่น เมืองน่าเที่ยว แนวเพลง T-POP จากศิลปิน T-POP ชื่อดังชาวไทย พร้อมโชว์การสาธิตการนวดไทย มวยไทย และศิลปหัตถกรรมไทย 




ตลอดจนการออกร้านคูหาจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมในงานเทศกาลไทยฯ ประกอบด้วย 1) กิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสินค้าทางวัฒนธรรมและบริษัทนำเข้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้ภายในการจัดงานและในรูปแบบออนไลน์ อาทิ Hyundai Department Store Co.,Ltd. , Lois Trading Co. , JungArtGroup, SunaromahyangCo,Ltd. เป็นต้น 2) กิจกรรมการออกร้านคูหาจำหน่ายและจัดแสดงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) จากเครือข่ายผู้ประกอบการจำนวนกว่า 20 ชุมชน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีภาพลักษณ์แบบไทยร่วมสมัยสร้างความนิยมและเป็นที่รู้จักแก่ชาวเกาหลีใต้ เช่น เครื่องประดับแบบไทยๆ เสื้อผ้าฝ้ายด้นมือ ผ้าพันคอย้อมคราม ยาดมสมุนไพร กระเป๋ากระจูด ตุ๊กตาช้างลายผ้าขาวม้า ฯลฯ  โดยทั้งกิจกรรมเจรจาธุรกิจและออกร้านจำหน่ายสินค้า สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 8.7 ล้านบาท 3) กิจกรรมการสาธิต ได้แก่ การทำเครื่องประดับดินปั้นเขียนลายคราม จากชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรมบางเขน กรุงเทพฯ และการสาธิตการทำต่างหูทองเหลืองจากชุมชนคุณธรรมบ้านค่าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้สนใจเยี่ยมชมคูหาและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการสาธิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์ CPOT สามารถเพิ่มฐานผู้บริโภคในระดับนานาชาติได้มากขึ้น 


“การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ นับเป็นการขนทัพงานศิลปวัฒนธรรม โชว์ Soft Power ของไทยในมิติวัฒนธรรมไทยสู่ชาวสาธารณรัฐเกาหลีได้อย่างครบถ้วน และยังถือเป็นการส่งเสริมการค้า โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อุตสาหกรรมการบริการในไทย และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมชุมชนไทยในเกาหลีใต้ให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้ เกิดความสัมพันธ์ระหว่างไทย – สาธารณรัฐเกาหลี อย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว













ไม่มีความคิดเห็น