สสส. สานพลัง มสช.-สนค.หนุน แพทย์เฉพาะทางเป็น “หมอคนที่ 4 ดูแลสุขภาพชุมชน" พัฒนาเครือข่ายต้นแบบแพทย์เฉพาะทาง ทำงานเชิงรุกป้องกัน-สร้างเสริมสุขภาพ นำร่อง 10 จังหวัด เชื่อมโยงอสม.-เจ้าหน้าที่-แพทย์ ร่วมยกระดับบริการสุขภาพ-สื่อสาร-ดูแล-ฟื้นฟู สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
ที่ รร. แกรนด์ริชมอนด์สไตลิช คอนเวนชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ (สนค.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดการประชุม หมอสี่ FORUM เชื่อมโยงแพทย์เฉพาะทาง เสริมสร้างระบบสุขภาพ "Bridging Specialists to Enhance a Seamless Healthcare System" ภายใต้โครงการพัฒนาแพทย์เฉพาะทางต้นแบบด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพเพื่อเครือข่ายการดูแลที่ไร้รอยต่อ
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้ จึงได้ร่วมกับ มสช. พัฒนาแพทย์เฉพาะทางต้นแบบด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ ให้มีแนวทางการทำงานเชื่อมโยงการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ชั้นสูงไปยังการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมป้องกัน และพัฒนา ต้นแบบระบบการดูแลสุขภาพที่ไร้รอยต่อ หรือ “ต้นแบบระบบบริการสุขภาพ 4 หมอ” โดยหมอคนที่ 4 คือแพทย์เฉพาะทาง ที่ทำงานเชื่อมต่อตั้งแต่ระดับพื้นที่ ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยมีแนวคิดต่อยอดจากแนวทางการทำงาน 3 หมอ ที่มี อสม. คือหมอคนที่ 1 ทำงานเชื่อมต่อกับหมอคนที่ 2 คือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหมอคนที่ 3 คือหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งกลไกลนี้จะเป็นต้นแบบที่ดีในการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีในทุกระดับ
“สสส. เห็นความสำคัญการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสุขภาพดีตั้งแต่ระดับชุมชน จึงได้สนับสนุนความรู้ ความสามารถของ 4 หมอ ให้มีศักยภาพทำงานเชื่อมโยงการจัดการสุขภาพชุมชน โดยเฉพาะหมอคนที่ 4 ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจปัญหาสุขภาพ และมีข้อมูลเชิงลึกของผู้ป่วย ช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน เกิดสุขภาพดีแบบองค์รวม นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.ฑิณกร โนรี ผู้รับผิดชอบโครงการ โครงการพัฒนาแพทย์เฉพาะทางต้นแบบด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพเพื่อเครือข่ายการดูแลที่ไร้รอยต่อ กล่าวว่า การพัฒนาแพทย์เฉพาะทางต้นแบบมีเป้าหมาย 1. ถอดบทเรียนหมอคนที่ 4 เชื่อมโยงการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ชั้นสูงให้เกิดการดูแลสุขภาพ เสริมป้องกัน ตั้งแต่โรงพยาบาลระดับจังหวัดไปสู่ชุมชน 2. บูรณาการการดูแลตั้งแต่การรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟู แบบไร้รอยต่อ 3. พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ 4 หมอ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง 4. ขยายผลเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานในระยะยาวระหว่างแพทย์เฉพาะทางกับทีมสหวิชาชีพอื่น ๆ 5. สื่อสารต้นแบบระบบบริการสุขภาพหมอ 4 สร้างความการตระหนัก และความเข้าใจในมิติบทบาทของแพทย์เฉพาะทางในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพของประชาชน และสังคม“บทบาทของ “หมอคนที่ 4” ไม่ได้มีเพียงการรักษาเท่านั้น แต่ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ที่เชื่อมประสานกับกลไกชุมชนเข้าไปจัดการบริการสุขภาพเฉพาะด้าน ให้กับผู้ป่วย ขณะนี้มีแพทย์เฉพาะทางเข้าร่วมโครงการ 14 คนจาก 10 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ พิษณุโลก สงขลา โดยจะขยายส่งต่อองค์ความรู้ และจำนวนแพทย์ทางให้เป็นหมอคนที่ 4 ทั่วประเทศ” นพ.ฑิณกร กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น