"สุดาวรรณ" เผย วธ. ร่วมสืบสานประเพณีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 9 พ.ย. 67 นี้ ณ วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น พร้อมจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมประวัติวัด เผยแพร่องค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมและสร้างสรรค์
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลกฐิน พุทธศักราช 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดหนองแวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ผลานิสงส์แห่งการถวายผ้าพระกฐินครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ เป็นฉัตรแก้วปกเกศอาณาประชาราษฎรตลอดไป รวมทั้งบันดาลให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญกุศลได้มีจิตตั้งมั่นในความดีงาม ถึงพร้อมด้วยสรรพกำลังในอันที่จะบำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การทอดกฐินเป็นประเพณีสำคัญที่ถือปฏิบัติสืบทอดมายาวนานกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งกฐินกาลมีกำหนดระยะเวลา คือ ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี พุทธศาสนิกชนจะร่วมทำบุญถวายผ้ากฐิน เพื่อเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดอานิสงส์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส โดยกฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐินให้แก่หน่วยงานราชการ องค์กร คณะบุคคล หรือบุคคลผู้ประสงค์ขอรับพระราชทานนำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง ทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในโอกาสนี้ วธ. ได้จัดพิมพ์หนังสือ “ปกิณกวัฒนธรรม วัดหนองแวง และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม” เพื่อเผยแพร่ประวัติวัดหนองแวง สิ่งสำคัญภายในวัด แหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ รวมถึงสถานที่สำคัญบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและผู้มาร่วมบุญกุศลในครั้งนี้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ใช้วัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้วย ทั้งนี้ วัดหนองแวงเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ต่อมาปี พ.ศ. 2527 วัดหนองแวงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา กระทั่งปี พ.ศ. 2542 ได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น และมีศาสนสถานสำคัญ ได้แก่ พระมหาธาตุแก่นนคร จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น เป็นศิลปะทวารวดีผสมผสานศิลปะอินโดจีน ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในบุษบก พระมหาธาตุแก่นนคร นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้มาสักการะ มีแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง เช่น วัดธาตุ พระธาตุขามแก่น วัดไชยศรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) แม่ครูราตรี ศรีวิไล โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น ศูนย์การเรียนรู้นาฏกรรมโขน นาฏศิลป์ไทย จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
“หนังสือ “ปกิณกวัฒนธรรม วัดหนองแวง และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม” นอกจะเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ด้านท่องเที่ยว โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ ส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น