กรมป่าไม้ดำเนินการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ และ ๒เพื่อการอยู่อาศัยทำกินอย่างยั่งยืน
กรมป่าไม้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ และ ๒ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของประเทศ จะต้องดำเนินการจัดระเบียบการใช้ที่ดินตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ใช้ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน ลดการเกิดภัยพิบัติ ไม่ทำให้ดินเสื่อมโทรม สามารถจัดการน้ำในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่
กรมป่าไม้ได้กำหนดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ดำเนินการ เพื่อประชาชนได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
๑. ขอความร่วมมือกับประชาชนงดเว้นการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชหรือลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช โดยวางเป้าหมายเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ภายในระยะเวลา ๙ ปี โดยลด ๒๐% ของพื้นที่ในปีแรก และลดลงใน ๑๐% ของพื้นที่ในปีต่อๆ ไป
๒. ขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัชพืชหรือลดการจุดไฟเผาวัชพืช / ยกเว้นการดำเนินการกำจัดเชื้อเพลิงตามมาตรการของแต่ละจังหวัดที่กำหนด
๓. ให้ประชาชนเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการและความเหมาะสมของประชาชน จำนวน ๒ รูปแบบ ได้แก่
๓.๑ เลือกนำเอามาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำทั้งวิธีกลหรือวิธีพืช จากมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดิน ที่มีอยู่หลายวิธี ไปผสมผสานหรือประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ อย่างน้อย ๔ วิธี
๓.๒ เลือกการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่นำแนวพระราชดำริด้านปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง และการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้เป็นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของพื้นที่
การดำเนินงานของกรมป่าไม้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยไม่ให้ดินเสื่อมสภาพ สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถาวร มั่นคง ยั่งยืน และยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมดินโคลนถล่มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น