รมว. ปุ๋ง ยินดีวุฒิสภาเห็นชอบผ่านกฎหมายชาติพันธุ์ ยืนหลักการคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมบางถ้อยคำ เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้ได้จริง ยืนยันหลักการคุ้มครองวิถีชีวิต ส่งเสริมศักยภาพบนฐานทุนทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติ สร้างความเสมอภาค และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังทราบผลการประชุมวุฒิสภาว่า “ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของประเทศเพื่อวางรากฐานในการคุ้มครองและส่งเสริมพี่น้องชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับประชาชนไทยทุกคน เน้นสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สร้างพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มวัฒนธรรมในการพัฒนาประเทศ”
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวด้วยว่า “แม้สมาชิกวุฒิสภาจะมีการปรับแก้และเพิ่มเติมถ้อยคำบางส่วน แต่เนื้อหาสำคัญยังอยู่ภายใต้หลักกการของกฎหมายฉบับนี้ที่ให้ความสำคัญกับการให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มไม่ให้ถูกละเมิดและสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งหลักการสร้างความเสมอภาค บนหลักการความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรม ดิฉันจึงเชื่อมั่นว่าร่างพระราชบัญญัติชาติพันธุ์ที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มเสมอภาคกัน เชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขของวุฒิสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันในสมัยประชุมหน้าของสภาผู้แทนราษฎร”
“ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม เราได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลด้านชาติพันธุ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลกลางด้านชาติพันธุ์ของประเทศไทยตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งเตรียมการจัดทำร่างระเบียบและประกาศต่างๆ ที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงมั่นใจว่ากระทรวงวัฒนธรรมของเรามีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบภารกิจด้านการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวทิ้งท้าย
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม ตามหลักการมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยสวัสดิการโดยรัฐ โดยจะมุ่งวางรากฐานความคิดให้สังคมไทยเห็นคุณค่าของความหลากหลาย เคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยหลุดพ้นจากการเป็นสังคมเปราะบางที่อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในอนาคตจนฉุดรั้งขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ และจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากลในฐานะประเทศที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์และวิถีวัฒนธรรม
ทั้งนี้ผลลงมติปรากฏว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่ ‘เห็นด้วย’ รับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … วาระที่ 3 ด้วยคะแนน 122 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 133 เสียง
สำหรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ได้มีการแก้ไขในมาตรา 3 โดยมีการใช้คำว่า “ชาวไทย” แทนคำว่า “กลุ่มคน” และเพิ่มคำว่า “ซึ่งกำเนิดและมีถิ่นฐานในประเทศไทย”
“กลุ่มชาติพันธุ์ หมายความว่า ชาวไทยที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม ซึ่งกำเนิดและมีถิ่นฐานในประเทศไทย มีอัตลักษณ์และสั่งสมวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน หรือมีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับสังคมไทย”
ขณะที่ประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงเรื่องการประกาศเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ในหมวดที่ 5 ของร่างพระราชบัญญัติ พบว่า มีการเปลี่ยนถ้อยคำบางคำอย่าง เช่น 'ธรรมนูญ' เปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ข้อกำหนด’ แต่ ร่างของวุฒิสภายังคงหลักการเดียวกับร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ การใช้ประโยชน์ หรือการกำหนดข้อกำหนดหรือธรรมนูญในเขตพื้นที่เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่นเดิม
ไม่มีความคิดเห็น